![](http://www.starupdate.com/wp-content/uploads/2013/06/caption.jpg)
จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า เชื้อไวรัสเอชพีวีสามารถติดต่อโดยการสัมผัส!! เบื้องต้นเราต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่แพร่จากผู้ติดเชื้อมาสู่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้หรือไม่ เช่น จากวัตถุสิ่งของที่เราต้องสัมผัสจับต้องกันบ่อยๆ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ลงสนามเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนัก
ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า “ได้ทำการเก็บ 100 ตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้สำลีปราศจากเชื้อชุบน้ำยาตรวจหาไวรัสเอชพีวี เช็ดถูบริเวณต่างๆ อาทิ บริเวณราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟท์ ลูกบิดประตูห้องน้ำ ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ ก้านกดชักโครก ที่รองนั่งโถส้วม เพื่อตรวจจับเชื้อไวรัสเอชพีวี ภายในห้างสรรพสินค้า โรงเรียนกวดวิชา สนามเด็กเล่น โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน สถานบันเทิง (ผับ) รถไฟฟ้า และรถประจำทาง จากการสำรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ถึง 4 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ที่ด้ามกดชักโครกในห้องน้ำหญิง ในโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งจากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บตัวอย่าง ก๊อกน้ำล้างมือที่ติดกับอ่างล้างมือในห้องน้ำชาย ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจากจำนวน 4 แห่งที่จัดเก็บ ที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำหญิงจากสถานบันเทิง (ผับ) แห่งที่ 1 และที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำชายจากสถานบันเทิง (ผับ) แห่งที่ 2 จากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บ”
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากการสำรวจพบว่า สถานที่ที่สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวี มักเป็นที่เย็น ชื้น และไม่มีแสงแดด (UV) ส่องเข้าถึง ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มคนที่เข้าไปในสถานบันเทิงที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เป็นกลุ่มที่มีการติดต่อและแพร่เชื้อไวรัสเอชพีวีสูงสุด โดยตรวจพบกลุ่มของไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ก่อโรค คือสายพันธุ์ (type) 6, 11, 16, 18 และอื่นๆ การสำรวจครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนตระหนกตกใจว่า เข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วจะติดเชื้อไวรัสเอชพีวี แต่เป็นสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวให้เกิดการป้องกัน เบื้องต้นได้แก่ การล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจจะติดมาโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยลดพฤติกรรมเสี่ยง ตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูก (เพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก) หรือฉีดวัคซีนป้องกันร่วมด้วย ปัจจุบันมีวัคซีนเอชพีวี แนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ช่วงอายุ 11-12 ปี จำนวน 3 เข็ม เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม คาดการณ์ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้อย่างน้อย 30 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น และในบางประเทศมีการฉีดวัคซีนให้ในเด็กผู้ชายด้วย”
ในฐานะคุณแม่ลูกสาม ปัทมน (อดิเรกสาร) สุริยะ กล่าวว่า “ครอบครัวของบัวให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมาก ยิ่งตอนนี้บัวมีลูกสาว 3 คน คนโตเป็นฝาแฝดอายุ 5 ขวบ คนเล็กอายุ 3 ขวบ ยิ่งต้องให้ความสำคัญทั้งลูกและตัวเองมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องฉีดวัคซีนก็ต้องรีบไปฉีดให้ครบตามกำหนด อย่างตัวเองหลังคลอดลูกมาก็ต้องไปตรวจภายในตามหมอนัดเป็นประจำไม่เคยขาด และยิ่งมารู้ว่าพบเชื้อไวรัสเอชพีวีในห้องน้ำสาธารณะแบบนี้ เรายิ่งเป็นห่วงมากขึ้น แต่บัวจะสอนลูกเสมอว่าเข้าห้องน้ำทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด ซึ่งตอนนี้เขาก็ติดนิสัยล้างมือไปแล้ว และคิดว่าเมื่อลูกอายุถึงเกณฑ์คงต้องพาลูกๆ ไปฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน”
บันทึกภาพ: ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี