สมาคมสถาปนิกสยามฯจัดพิมพ์ หนังสือ VERNADOC Vol.1: Thailand ผลงานภาพลายเส้นวาดด้วยมือจากการอาสาสมัครสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมครั้งแรกของไทย หวังสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาติ

แชร์ข่าวนี้

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำหนังสือและพิมพ์หนังสือ VERNADOC Vol. 1: Thailand รวบรวมผลงาน ASA VERNADOC จากการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ด้วยการสำรวจรังวัด อาคาร บ้านเรือนชุมชนทั่วประเทศไทย โดยการวาดภาพลายเส้น ใช้เพียงเทคนิคพื้นฐานด้วยมือ ไม้บรรทัด กระดาษและปากกาเขียนแบบ ฝึกอบรมนิสิตนักศึกษาและอาสาสมัครจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลากหลายสถาบัน ด้วยเทคนิคจากสถาปนิกชาวฟินแลนด์ที่เรียกว่า VERNADOC มาตั้งแต่ปีพศ.2550 จนปัจจุบัน ในการลงพื้นที่ในการเก็บสำรวจและสร้างสรรค์ผลงาน หวังให้เจ้าของอาคาร คนในชุมชนและประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มามากกว่า 15 แห่งทั่วประเทศ สมาคมฯได้ให้การสนับสนุนโครงการและจัดพิมพ์ภาพลายเส้นจำนวน 455 ภาพ พร้อมการบรรยายที่มาที่ไปของการทำงาน บันทึกความทรงจำและการทำกิจกรรมกับเยาวชนและอาสาสมัครมากว่า 5 ปี ในหนังสือที่ทรงคุณค่าเหมาะกับการร่วมเก็บรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติ พร้อมชมนิทรรศการผลงาน VERNADOC การสำรวจรังวัด จากค่าย ASA VERNADOC 2012 : พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ณ อาษาเซนเตอร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟวอรี่จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2556

 นายสมิตร โอบายะวาทย์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์และการบันทึกภาพสมัยใหม่  ทำให้การเก็บความทรงจำของมนุษย์ ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น สำหรับบุคคลทั่วไปก็อาจจะนับได้ว่าเป็นสิ่งดี แต่สำหรับสถาปนิกนั้น อาจกำลังส่งผลต่อทักษะและความสามารถขั้นพื้นฐานของความเป็นสถาปนิก ซึ่งในอดีตจำเป็นที่จะต้องอาศัยสายตาเพื่อการมอง สมองเพื่อความจำ ส่งผ่านไปยังนิ้วมือเพื่อการบันทึก ไม่นับรวมถึงระยะเวลาที่เราต้องเพ่งมองอย่างเนิ่นนาน เพื่อจดจำสัดส่วน รายละเอียด ความงาม หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่ได้รับจากสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนในยุคของคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากจะประหยัดเวลาแล้ว ยังมีคุณภาพทัดเทียมกัน จนกระทั่งสถาปนิกในยุคหลังไม่มีลายเส้นของตนเอง หรือแม้กระทั่งละทิ้งการใช้ปากกาและดินสอ ในการถ่ายทอดความคิด เมื่อ VERNADOC ได้นำเทคนิคการเขียน การรังวัด ความละเอียดละออและวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมจากอดีต มาหลอมรวมกับจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ผลที่ได้นอกจากความอิ่มเอมใจที่ได้มีโอกาสบันทึกภาพ อาคารโบราณที่นับวันจะหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่กลับได้เพิ่มศักยภาพและทักษะให้กับตนเอง อีกทั้งแต่งเติมเสน่ห์และตัวตนให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ เฉกเช่นที่สถาปนิกรุ่นบรมครูได้เคยสร้างความชัดเจนไว้ให้อาชีพนี้ในอดีต

 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในฐานะสมาคมวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรมที่จะต้องร่วมอนุรักษ์และสืบสานมรดกสถาปัตยกรรมของชาติจึงให้การสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม สมาคมฯ ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญ สนับสนุน และช่วยสร้างกระแส ASA VERNADOC อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือกลุ่มนักศึกษาและสถาปนิกไทยที่เข้าร่วมฝึกฝนฝีมือ ให้เป็นตัวอย่างกับผู้ร่วมอาชีพ ถึงแนวทางการพัฒนาทักษะการเป็นสถาปนิกที่ถูกหลงลืม เพื่อสานต่องานที่ทรงคุณค่านี้ต่อไปถึงคนรุ่นหลังได้มีโอกาสภาคภูมิใจในมรดกสถาปัตยกรรมของชาติสืบไป

 นางปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส ประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการบริหารสมาคมอิโคโมสไทย  กล่าวว่า งานสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมด้วยวิธี  VERNADOC เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี ๒๕๕๐ ซึ่งได้เห็นความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานอนุรักษ์ และโครงการ Work Shop ออกค่าย ASA VERNADOC นี้ นับเป็นโครงการที่มีกระบวนการที่สร้างคนรุ่นใหม่ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งมรดกสถาปัตยกรรม ได้สัมผัสและเรียนรู้อย่างลึกซึ้งด้วยการลงมือวัด วาด เขียนด้วยมือผ่านทางตาและใจ การได้มาสัมผัสกับมรดกสถาปัตยกรรมอย่างใกล้ชิด ละเอียดละออ ได้เรียนรู้ถึงสัดส่วน กระบวนทัศน์ของช่างโบราณ ที่ออกแบบและสร้างสรรได้อย่างลงตัว ทำให้สิ่งที่ได้วัด วาด เขียนมาด้วยมือผ่านตาและใจนี้ ประทับอยู่ในความทรงจำที่ฝากไว้ในฝีมือของตนเอง ที่ได้บรรจงถ่ายทอดออกมาสู่กระดาษอย่างถูกต้องตามสัดส่วน และเผยความงามและคุณค่าทางสถาปัตยกรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้มาพบเห็น โครงการ VERNADOC สามารถกระจายองค์ความรู้ และกระบวนการทำงานไปสู่สถาบันการศึกษาทางสถาปัตยกรรมหลายสถาบัน ผลที่ได้จากการที่ได้สร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดความรักหวงแหนในมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสิ่งที่ผู้เข้าค่ายทุกคนได้รับคือการฝึกความอดทน และความไม่ย่อท้อต่องานเขียนมือที่ละเอียด ซึ่งแต่ละคนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้ นับเป็นการที่ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นก้าวข้ามผ่านอุปสรรคทั้งปวงที่ตนเองเผชิญในขณะเข้าค่ายทำงานนี้ หวังว่ากระแส “VERNADOC Fever” ยังคงอยู่ต่อๆ ไปในประเทศไทย และสากล เพื่อจรรโลงซึ่งศาสตร์และศิลปของการทำสำรวจ รังวัด มรดกสถาปัตยกรรมให้เป็นที่ประจักษ์และเกิดความประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็นต่อไป

ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรณาธิการและผู้แต่งหนังสือ และประธานโครงการ ASA VERNADOC กล่าวว่า การจัดทำโครงการนี้เกิดจากที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเริ่มร่างหลักสูตรอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมและชุมชน ในระดับปริญญาโท (M.S.CRAC) มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งที่สำคัญต่อปัญหาของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของประเทศไทยในขณะนั้น คือการเร่งสร้างจิตสำนึกให้สังคมเห็นคุณค่าในมรดกสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ หวงแหน และหาหนทางรักษาให้คงอยู่ต่อไป โดยถ่ายทอดวิธีเขียนแบบด้วยเทคนิคพื้นฐาน ที่เรียกว่า VERNADOC (Vernacular Documentation)  ซึ่งสถาปนิกชาวฟินแลนด์ อาจารย์มาระกุ มัตติลา (Markku Mattila) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki University of Technology) ประเทศฟินแลนด์ ใช้เป็นรหัสเรียกขานแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐาน แต่ได้คุณภาพของผลงานในระดับสูงที่สามารถสะท้อนถึงคุณค่าของอาคารนั้น และเป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับชาวบ้านทั่วไป โดยได้อบรมเทคนิคดังกล่าวให้แก่สถาบันการศึกษาที่สอนสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ในรูปแบบของค่ายอาสาสมัครสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรม

จากการที่นักศึกษาจากหลักสูตร M.S.CRAC ของมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ VERNADOC 2005 ครั้งแรกในโลก ณ ประเทศฟินแลนด์ ใน พ.ศ. 2548 โดยหลังจากนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ทดลองจัด Thai VERNADOC 2007 ที่เมืองโบราณเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 นับจากนั้นค่าย VERNADOC ในประเทศไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนหลักจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยพันธมิตรอย่างสมาคมอิโคโมสไทย และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ของเทคนิควิธีเขียนแบบดังกล่าว

ปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ได้เกิดค่าย VERNADOC ไม่น้อยกว่า 15 ค่ายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีทั้งที่จัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในนามค่าย ASA VERNADOC หรือที่จัดโดยสถาบันต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน อาทิ RSU VERNADOC, KKU VERNADOC, RMUTT  VERNADOC & KMITL VERNADOC เป็นต้น นับเป็นกระบวนการปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ครั้งสำคัญ ที่หลากหลายสถาบันได้มีโอกาสร่วมกันชี้นำให้สังคมเห็นคุณค่าในมรดกสถาปัตยกรรม ผ่านทางผลงานภาพลายเส้นอันงดงาม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการอนุรักษ์ปรับปรุงได้จริง เพราะเป็นภาพที่ได้มาจากการสำรวจรังวัดด้วยไม้บรรทัด และตลับเมตร ในขนาดและสัดส่วนที่ถูกต้องตรงกับตัวสถาปัตยกรรมแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว มิใช่เพียงภาพที่กะขนาดด้วยสายตาเหมือนภาพวาดทั่วไป และที่สำคัญกระบวนการนี้ยังได้ช่วยสร้างให้สถาปนิกรุ่นใหม่ได้ตระหนักในคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมมากยิ่งขึ้น และมีความรู้เพียงพอในเทคนิคการเก็บข้อมูลด้วยวิธีที่ง่าย แต่ได้คุณภาพในระดับสูง ดังเช่นผลงานทั้ง 455 ภาพ จากสถาปนิกและนักศึกษาอาสามัคร 335 คน ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ VERNADOC Vol.1:Thailand เล่มนี้

หนังสือ VERNADOC Vol.1: Thailand มีความหนา 278 หน้า จัดพิมพ์เป็นสองภาษา (ไทย / อังกฤษ) บนกระดาษ GREEN OFFSET ความหนา 160 แกรม ปกแข็งเข้าเล่มเย็บกี่อย่างดี ควรค่าแก่การเก็บเป็นที่ระลึก ราคาจำหน่ายเล่มละ 2,500 บาท ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และที่  ASA Center ชั้น 5 อาคารสยามดิสคัฟเวอรี่  หรือติดต่อสั่งซื้อโดยตรงได้ที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ 248/1 ซอยศูนย์วิจัย 4 (ซอย 17) ถนนพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2319 6555 แฟกซ์ : 0 2319 6555  กด 6 อีเมล์ : www.asa.co.th

ที่มา:  สมาคมสถาปนิกสยามฯ
บันทึกภาพ:  สมาคมสถาปนิกสยามฯ
นำเสนอโดย www.starupdate.com หากนำข่าวไปใช้กรุณาอ้างอิงถึง www.starupdate.com ด้วย
แชร์ข่าวนี้