- “อาการปวดหลัง” ขึ้นแท่นอันดับ 2 สาเหตุการลาป่วยสูงที่สุดในอังกฤษ* สาเหตุการปวดสูงสุดในสหรัฐอเมริกา** และ อาการปวดเอวและหลังส่วนล่าง ยังเป็นสาเหตุการมาพบแพทย์ของผู้ป่วยในประเทศไทยรองจากหวัด***
- ในสหรัฐอเมริกา อาการปวดส่งผลกระทบต่อมูลค่าการผลิตในประเทศเฉลี่ยในปี 2553 มากกว่าปีละ 90,000 ถึง 100,000 ล้านล้านบาท**
- แพทย์แนะหากมีอาการปวดต่อเนื่องไม่ควรละเลย ควรได้รับการประเมินหาสาเหตุที่อาจมองข้ามเพื่อรักษาอย่างเหมาะสม
ในโอกาสครบรอบ 55 ปีในประเทศไทย วันนี้ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมยาคุณภาพของโลกและของไทย จัดงานเสวนาเชิงปฏิบัติการสำหรับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “รอบรู้เรื่องปวด” (know YOUR PAIN) ระบุอาการปวดต่อเนื่องเรื้อรังถือว่าเป็น “ปัญหา” ชนิดหนึ่ง
ที่ไม่ควรละเลยมองข้าม เพราะบั่นทอนสุขภาพร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในการนี้ไฟเซอร์ได้จัดรณรงค์โครงการ “รอบรู้เรื่องปวด” เพื่อส่งเสริมสร้างความรู้แก่ประชาชนกลุ่มวัยต่างๆ เกี่ยวกับอาการปวดในลักษณะต่างๆ ผ่านทางโรงพยาบาล ร้านขายยา อาคารสำนักงาน และโรงเรียน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงแนวทางการป้องกันและรักษาก่อนลุกลาม
โดยมี มร. คริสเตียน มัลเฮอร์บี ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นพ. พิชัย คณิตจรัสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และ รศ.นพ. ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และที่ปรึกษาคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลศิริราช (อดีตนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย) เป็นวิทยากร โดยมี หมวย – อริสรา กำธรเจริญ เป็นพิธีกร
น.พ.พิชัย คณิตจรัสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จากสถิติด้านปัญหาสุขภาพของประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศ พบว่าอาการปวดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย อาทิ ในประเทศอังกฤษ มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวดเรื้อรังเกือบ 8 ล้านคนทั่วประเทศ แต่มีเพียง 2% เท่านั้นจากจำนวนดังกล่าวที่ไปพบแพทย์เพื่อรักษา โดยอาการปวดหลัง คือ สาเหตุสำคัญอันดับ 2 ที่ทำให้ต้องลาหยุดงาน หรือไม่สามารถปฏิบัติงานตามปกติได้*”
“ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานว่า อาการปวดส่งผลกระทบต่อมูลค่าการผลิตในประเทศในปี 2553 ถึง 297–335 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (หรือกว่าเก้าหมื่น ถึงแสนล้านบาท) โดยคำนวณจากประมาณการตัวเลขสามส่วนคือ จำนวนวันขาดงาน จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และค่าแรงที่ได้รับน้อยลง โดยสาเหตุอันดับหนึ่งของอาการปวด คือ การปวดศีรษะ และอันดับที่สองคือการปวดหลัง** จากรายงานด้านสุขภาพของ
ทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องของการปวดไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยที่สามารถละเลยไม่ใส่ใจดูแลรักษาอีกต่อไป” น.พ.พิชัย กล่าวเสริม
รศ.นพ. ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และที่ปรึกษาคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลศิริราช และอดีตนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในประเทศไทย อาการปวดเอวและหลังส่วนล่าง คือ สาเหตุอันดับ 2 รองจากหวัดที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์*** การปวดหลังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การปวดกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลังเสื่อม/อักเสบ เนื้องอก/หมอนรองกระดูก/กระดูกงอกทับเส้นประสาท ความเครียดและการใช้หลังไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งมักถูกมองข้ามหากอาการปวดเป็นต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 เดือน ก็จะจัดว่าเป็นการปวดเรื้อรัง”
โดยสาเหตุที่พบบ่อยอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามช่วงอายุ ได้แก่ 1. กลุ่มหนุ่มสาวและวัยทำงาน โดยเฉพาะลักษณะงานยุคใหม่ที่แม้ไม่ใช่งานหนัก แต่เป็นงานที่นาน จำเจ และขาดการออกกำลังกาย มักจะเป็นปัญหาปวดของกล้ามเนื้อที่รู้จักกันในชื่อ “ออฟฟิศซินโดรม” 2. กลุ่มสูงอายุ เป็นปัญหาของความเสื่อมโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง และ 3. กลุ่มที่สูงอายุมากขึ้น มีประวัติเคยเป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะกับอวัยวะใด ถ้ามีอาการปวดหลังรุนแรงมากตอนกลางคืน และมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น น้ำหนักลด เพลีย ควรตรวจเพื่อค้นหาว่ามีอาการของมะเร็งกระจายมายังกระดูกสันหลังหรือไม่ เพราะมะเร็งหลายชนิดมักกระจายมาที่บริเวณนี้”
รศ.นพ. ประดิษฐ์ แนะนำข้อคิดควรรู้ว่า “ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันและเรื้อรังมีความแตกต่างกันมาก ทั้งสาเหตุและแนวทางการรักษา การค้นหาสาเหตุของอาการปวดหลังเฉียบพลันไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนการรักษาเช่นยา ใช้ได้ตามความรุนแรงของอาการ บางรายอาจต้องใช้มอร์ฟีน ซึ่งสามารถหยุดใช้ยาได้เมื่อการรักษาได้ผลดี ขณะที่ การใช้ยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังอาจะเป็นอันตรายต่อกระเพาะ รวมทั้งตับและไตได้ อีกทั้งการให้มอร์ฟีนติดต่อกันหลายอาทิตย์จะก่อให้เกิดการติดยาได้ง่าย ดังนั้น จึงควรใช้ในปริมาณน้อยที่สุดหรือหลีกเลี่ยงไปเลย นอกจากนี้ นิสัยการใช้หลังที่เหมาะสมประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง”
“ข้อแนะนำเบื้องต้น: ควรเริ่มจากการสำรวจและประเมินอาการปวดด้วยตนเอง โดยเริ่มจากประวัติการเกิดอาการปวดว่าเฉียบพลันทันทีหรือค่อยๆ เป็นจนเรื้อรัง ศึกษาลักษณะของความปวด เช่น ปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็นช่วงๆ สังเกตสิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น หรือสิ่งที่ช่วยบรรเทาให้อาการปวดหายหรือทุเลาลง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยนำทางให้แพทย์มีความแม่นยำในการวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของความปวด และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รศ.นพ. ประดิษฐ์ กล่าวเสริม
แต่ทั้งนี้ การรักษาที่มีผลดีที่สุดคือการป้องกันก่อนเกิดอาการปวดหลังด้วย การใช้ร่างกายอย่างถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มสมรรถนะและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
โครงการ “รอบรู้เรื่องปวด: Know YOur Pain” ในโอกาสครบรอบ 55 ปีของไฟเซอร์ ในประเทศไทย จัดขึ้นทั่วประเทศตลอดปี 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยรอบรู้สาเหตุของอาการปวดต่างๆ รวมถึงแนวทางป้องกันรักษา ผ่านทางช่องทางสำคัญ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน และร้านขายยาคุณภาพ เพื่อเข้าถึงประชาชนในหลากหลายกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ และเกิดประโยชน์ด้านสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง
“ไฟเซอร์ ประเทศไทย – ทุ่มเทกายใจเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน”
ที่มา:
* เว็บไซต์ – BBC News
** เว็บไซต์ – American Academy of Pain Medicine
*** เว็บไซต์ – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)
ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งโดยไฟเซอร์ อิงค์ ใน พ.ศ. 2501 ไฟเซอร์ ประเทศไทยเป็นบริษัทค้นคว้าวิจัยและผลิตชีวเวชภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 55 ปีในเมืองไทย ไฟเซอร์ ประเทศไทยยังคงนำเสนอนวัตกรรมยาและเวชภัณฑ์ใหม่ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีชีวิตและสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับผู้ให้บริการสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อขยายการเข้าถึงยาและบริการสนับสนุนการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ไฟเซอร์ ประเทศไทย มีพนักงานกว่า 400 คน ร่วมมือกันปฏิบัติงานในทุกวัน โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบและการเป็นที่ไว้วางใจของสังคมด้วยการนำเสนอทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ ในการตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ของผู้ป่วยในประเทศไทย
สนใจกิจกรรมและข้อมูลสุขภาพ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pfizer.co.th
บันทึกภาพ: บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด