ประเภท Drama/Fantasy
กำหนดฉาย 5 กันยายน 2556
บริษัทจัดจำหน่าย โมโนฟิล์ม
อำนวยการสร้าง เฟรดเดอร์ริก บรูเนล (XIII: The Conspiracy)
กำกับ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ (C’est la vie)
เขียนบท ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ (C’est la vie)
บทประพันธ์ วิคเตอร์ อูโก้ (Les Miserables, The Hunchback of Notre Dame)
นำแสดง มาร์ค อองเดรย์ กรองแดง (Goon, Che)
เจอร์ราด เดอปาร์ดิเออ (Life of Pi, La Vie en Rose)
คริสตาร์ เทอเร่ย์ (LOL)
เรื่องย่อ
“กวินแปลน” เด็กน้อยผู้เคราะห์ร้ายเขาเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ แต่กลับเป็นช่วงที่มีการทะเลาะกันของวงศ์ตระกูลอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีมากรีดหน้าของเขาให้เป็นเสมือนรอยยิ้มที่ไม่มีวันจาง เขาจำต้องระหกระเหินเร่ร่อนจนพบกับชายแก่ผู้ใจดีรับเขามาเลี้ยงจนโต และอาชีพที่เขาเป็นก็มีเพียงแค่นักแสดงโจ๊กเกอร์ในคณะละครสัตว์ เมื่อเขาเป็นหนุ่มใหญ่ จึงได้เวลาที่เขาต้องออกไปเผชิญหน้ากับความจริง แต่ด้วยความผิดแปลกของใบหน้าที่ไม่เหมือนคนปกติ เขาจำต้องพบกับเรื่องราวของความรัก ความหวัง และโศกนาฏกรรมที่เขาจะไม่มีวันลืมเลือน
เกี่ยวกับภาพยนตร์
เด็กน้อยที่ชื่อว่า “กวินแปลน” มาพร้อมกับรอยเหวอะหวะบนใบหน้า ลักษณะของแผลชนิดนี้ คือ ให้เหมือนกับการฉีกยิ้มอยู่ตลอดเวลา เขาถูกทอดทิ้งไร้คนดูแล ต้องระหกระเหินเดินออกไปท่ามกลางพายุหิมะ จนกระทั่งไปพบกับร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีเด็กทารกตัวน้อยอยู่ข้างๆ กวินเพลนเห็นดังนั้นจึงพาเด็กทารกคนนั้นไปกับเขาด้วย ทั้งคู่เดินทางผ่านพายุจนกระทั่งได้ถูกพบเจอโดยนักพเนจรคนหนึ่ง นามว่า “เออซุซ” เขาสังเกตได้ในทันทีว่าเด็กทารกหญิงคนนี้ตาบอด เขาจึงตั้งชื่อทารกคนนี้ว่า “เดอา” จากนั้นเขาจึงพาเด็กทั้งสองไปทำความรู้จักกับโลกที่พวกเขาต้องอยู่
องค์ที่สองของภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ข้ามไปในอีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อทั้งสามจำต้องย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่และก่อตั้งละครเวทีอาชีพของ “กวินแปลน” คือ การเป็นนักแสดงตัวตลกให้กับกลุ่มนี้ ดังนั้นโรงละครจึงเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยไอเดียแรกของ วิคเตอร์ อูโก้ นั้นคือ “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของละครเวที” และ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ ก็ได้สานต่อความคิด โดยการตีความของโลกละครที่ “กวินแปลน” เล่นอยู่นั้นให้เป็นเสมือนโลกแห่งความจริง แน่นอนว่าชีวิตจริง “กวินแปลน” แทบจะเหมือนกับโลกแห่งละคร เพราะความโชคร้ายของชะตาชีวิต หรือแม้กระทั่งรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัดบนใบหน้า เขาจึงยินดีที่ใช้ชีวิตในโลกแห่งโรงละครมากกว่าในชีวิตจริง อย่างน้อยที่สุดตัวละครใบ้ที่เขาเล่นนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไป ต่างกับชีวิตจริงที่ทุกคนต่างรังเกียจเขาเมื่อเห็นใบหน้าอันสยดสยอง จนบางครั้งตัวละครอย่างกวินแพลนก็สับสนว่าโลกไหนคือโลกจริงหรือโลกไหนคือละครกันแน่
ในเรื่องบทไดอาล็อกที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ บางส่วนนั้นเป็นการยกคำพูดของหนังสือมาใส่ทั้งประโยค แต่ก็มีบ้างที่เราต้องปรุงแต่งปันสรรค์กันเอง เพราะเไม่อยากให้ภาพยนตร์ดูเหมือนกับเป็นการย้อนยุคเกินไป ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ กล่าวว่า ”ผมมักจะไม่ชอบเสมอเมื่อภาพยนตร์ในแนวนี้ นักแสดงจะต้องมาตะโกนหรือพูดเสียงดังๆ ใส่กัน จนบางครั้งมันกลายเป็นว่าการแสดงนั้นล้นจนเกินไป” เขาต้องการให้นักแสดงนั้นเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะด้วยความที่ตัวละครนั้นมีด้านมืดอย่างชัดเจน เราจึงต้องทำให้นักแสดงมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราจับต้องได้ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องอย่าง แบทแมน เดอะ ดาร์ค ไนท์ (THE DARK KNIGHT) ในฉบับของคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ (Christopher Nolan) ที่ตัวละครนั้นมีความมืดและความดิบอยู่ในนักแสดงแทบทุกตัว
เกี่ยวกับผู้กำกับ : ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ (Jean-Pierre Améris)
ย้อนกลับไปเมื่อ พฤศจิกายน ปี 1971 มินิซีรี่ย์ ของวิคเตอร์ อูโก้ “เดอะ แมน ฮู ลาฟส์” ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ในประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางสายตาของคนดูจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเด็กหนุ่มอายุ 10 ขวบ เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กน้อยธรรมดาๆคนหนึ่ง เพราะเมื่อเขาได้เติบโตขึ้นมาได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ และเขาคนนั้นมีชื่อว่า ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ “Jean-Pierre Améris” เขากล่าวว่า“มันเป็นอะไรที่ทำให้ผมทึ่งมากๆ เพราะภาพยนตร์ในอดีตที่ผมดูตั้งแต่เด็ก มันฝั่งอยู่ในจิตใจของผม ด้วยเรื่องราวของภาพยนตร์เสนอแง่มุมด้านมืดของคน” หลังจากนั้นประมาณ 6 ปีเขาก็ไปหานิยายเรื่องนี้มาอ่าน เขารู้สึกอินไปกับเรื่องราว เพราะตัวเขาเองก็เป็นคนที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากเพื่อนๆ เพราะเมื่อสมัยที่เขายังเป็นเด็กๆ เขามีส่วนสูงถึง 2 เมตรมันทำให้เขาเป็นเหมือนแกะดำในหมู่เพื่อนๆ เนื่องมาจากความสูงที่เกินเพื่อนๆ ไปเยอะ เขาจึงมีความรู้สึกเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นเขาจึงไม่มีวันลืมตัวละครที่ชื่อว่า “กวินแปลน” (Gwynplaine) บทของเด็กน้อยผู้แสนดีแต่ใบหน้าถูกทำลายโดยการกรีดหน้าให้เหมือนกับตัวโจ๊กเกอร์ ภาพที่ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ เห็นนั้นติดตาเขามาตั้งแต่เด็กและเป็นภาพแห่งฝันร้ายที่เติบโตมาคู่กับเขา ในวันนั้นเองที่เขาคิดจะเริ่มเข้าวงการภาพยนตร์เขาคิดอยู่ในใจเสมอว่าเขาจะต้องสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้
แต่ก่อนที่เขาจะเริ่มจับงานภาพยนตร์ที่ใฝ่ฝัน เขาเริ่มที่จะจับงานในภาพยนตร์เรื่องอื่นก่อน เพื่อสั่งสมประสบการณ์ และเมื่อประสบการณ์ที่สั่งสมนั้นมันเข้าที่ เขาจึงเริ่มหันมาจับงานของ วิคเตอร์ อูโก้ ขึ้นอีกครั้ง เขาตั้งปฏิญาณว่าเขาจะไม่สร้างหนังเรื่องนี้เป็นเพียงเพื่อคำนิยามแค่การรีเมค แต่เขาจำเป็นที่จะต้องมีมุมมอง แง่คิดส่วนตัวลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
เรื่องราวเบื้องหลังของ THE MAN WHO LAUGHS
วิคเตอร์ อูโก้ เขียน นิยาย “THE MAN WHO LAUGHS” ในช่วงปี 1866 – 1869 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาอยู่ในการลี้ภัยทางการเมืองไปที่เกาะแห่งหนึ่ง นิยายเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเข้าฉายถึง 3 ครั้ง แต่ครั้งที่ได้รับการตอบรับดีที่สุดนั้นคือในฉบับภาพยนตร์ของ พอล เลนีย์ (Paul Leni) ในปี 1928 ซึ่งเป็นช่วงยุคของภาพยนตร์เงียบและมีภาพยนตร์อันโด่งดังมากมายไม่ว่าจะเป็น อะ ทริป ทู เดอะ มูน (A TRIP TO THE MOON 1902) หรือ เดอะ คาบิเน็ท ออฟ ด็อกเตอร์ คาลิกาลี่ THE CABINET OF DR.CALIGALI (1920) ซึ่งแน่นอนว่าภาพยนตร์ได้รับแรงบัลดาลใจหรือแนวทางเดียวกับสองภาพยนตร์อมตะที่ว่านี้ แต่ปัญหาหลักๆ ที่สำคัญของภาพยนตร์เงียบ คือ การที่ไม่สามารถใส่ไดอาล็อก(Dialogue) ลงไปในภาพยนตร์ได้เลย หรือถ้ามีก็มีเพียงแค่ตัวหนังสือวิ่งออกมาขั้นฉาก และเล่าเรื่องการแสดงผ่านสีหน้าและดนตรีประกอบเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเล่าเรื่องที่ผู้เขียนอย่างวิคเตอร์ อูโก้เขียนไว้ได้ทั้งหมด รวมไปถึงตอนจบของภาพยนตร์ที่แสดงถึงโศกนาฎกรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะช่วงนั้นอิทธิพลของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ต้องการให้เพียงแค่ในตอนจบแบบแฮบปี้เอ็นดิ้งเท่านั้น
ในขณะที่ภาพยนตร์อย่าง LES MISERABLES และ THE HUNCHBACK OF NOTRE DAME นั้นได้รับการดัดแปลงและได้รับความนิยมการทำใหม่อยู่หลายรอบ ผู้กำกับ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ นั้นกลับเห็นตรงกันข้าม เขากลับรู้สึกว่าภาพยนตร์อย่าง THE MAN WHO LAUGHS นั้นสมควรได้รับการนำเสนอในสื่อภาพยนตร์ในยุคใหม่ เพราะเรื่องราวของโศกนาฎกรรมและความรักของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความลึกและสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง การนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่หลักของเขาในการดึงความได้เปรียบทุกอย่างของความก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน มาปรับใช้เข้ากับภาพยนตร์เรื่องนี้
ในความเป็นจริงแล้ว THE MAN WHO LAUGHS นั้นได้รับความนิยมที่น้อยมากเมื่อมันได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี คศ. 1869 แต่ผู้กำกับ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ ได้อธิบายว่า “ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่ดีเมื่อต้องมาพบกับการผสมผสานระหว่าง โศกนาฎกกรมกับเรื่องของตลกร้าย” เขาอธิบายอีกว่า เรื่องตลกร้ายนั้นๆมันสำคัญมากต่อภาพยนตร์ ความพิลึกพิลั่นของสถานการณ์ ตัวละคร มันมีความมืดทึบไปเสียทั้งหมด ผู้กำกับจึงต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถันว่าจะเลือกเสนอเรื่องอะไรและตัดเรื่องราวอะไรออกไปจากหนังที่กำลังสร้างโดยที่ไม่ให้ผู้คนหลุดสิ่งที่เขาอยากเสนอมากที่สุดนั่นก็คือตัวละครเอกของผู้ชายมีรอยยิ้มประทับบนใบหน้าอย่างสยดสยอง “กวินแปลน”
การคัดเลือกนักแสดง
ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ ได้ทำงานเป็นผู้กำกับมาแล้วถึง 12 เรื่อง โดยแทบจะทุกเรื่องต้องเป็นเรื่องของตัวละครที่ป่วย แปลกแยก หรือไม่ก็ต้องประสบกับปัญหาอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาต้องแปลกแยกต่อสังคม ฌองปิแอร์เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดีที่สุด เขารักที่จะจับเรื่องราวของคนที่มีปัญหาแล้วนำเขามาอยู่กลางเวที
สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของการถ่ายทำที่ บารานดอฟสตูดิโอ ในกรุงปราก คือการที่เราได้รวมกลุ่มพวก คนแคระ คนที่มีรูปร่างใหญ่โตเกินขนาด หญิงสาวอ้วน หรือแม้กระทั่งหญิงสาวที่มีหนวดเครายาว มาไว้อยู่ในฉากเดียวกัน มันเหมือนกับการสร้างโลกที่มีภูมิคุ้มกันต่อการดูแคลนบุคคลเหล่านี้ จริงๆแล้วเขาคิดอยู่เสมอว่าพวกเขาเหล่านี้แหละที่เป็นคนวิเศษที่สุด มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ “เออซุส” ได้บอกกับ “กวินแปลน” ว่า “จงอย่าอำลาจากเวที” นั่นเป็นคำแนะนำที่เยี่ยมยอดมากๆ “ที่แห่งนี้เป็นที่ ที่ผู้คนรักเราและเชิดชูเรา ถ้าหากเรายอมกลับไปสู่ชีวิตจริง ผู้คนจะทำร้ายเรา” แต่“กวินแปลน” กลับละเลยคำแนะนำของเออซุสไปและไปใช้ชีวิตจริงที่แย่ยิ่งกว่าละคร
ตัวละครอย่าง “กวินแปลน” นั้นเปรียบเสมือนศูนย์กลางของเหล่าคนผิดแปลก มันเป็นเรื่องราวของเด็กชายไร้เดียงสาคนหนึ่ง ที่ถูกคนอื่นมองว่าเป็นตัวประหลาด แล้วเขาก็ไม่รู้เลยว่าจะเข้ากับสังคมได้อย่างไร ผู้กำกับมองตัวละครตัวนี้ไว้ว่า ตัวละครตัวนี้ต้องมีความงามในแบบของเขาเอง และเป็นตัวละครที่ทุกคนใฝ่ฝัน ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ ใช้ข้อมูลภาพยนตร์อ้างอิงอย่าง “เอ็ดเวิร์ด ซิซเซอร์แฮนส์”(EDWARD SCISSORHANDS) ที่รับบทโดย Johnny Depp เขามองคาแรคเตอร์อย่าง เอ็ดเวิร์ด ว่าเป็นตัวละครที่ไร้เดียงสามาก เขาไม่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร เขาเป็นทั้งตัวอันตรายและเป็นทั้งเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในเวลาเดียวกัน และนี่เป็นเหตุผลหลักๆที่เขาเลือกนักแสดงอย่าง “มาร์ค อองเดรย์ กรองแดง” (GOON, CHE) เด็กหนุ่มที่มีหน้าตาหล่อเหลาและดูมีเสน่ห์เป็นอย่างมาก เขามองถึงตัวละครนี้อย่าง พินอคคิโอ หรือทุกๆ ตัวละครประหลาด ที่ต้องพบเจอกับโลกมนุษย์แล้วมาเรียนรู้ว่าโลกแห่งความจริงนั้นมันไม่ได้สวยงามและมันอาจทำร้ายเราได้ทุกเมื่อ
ความงามนั้นเป็นแก่นหลักของนิยาย และมันก็เป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งที่เราใส่ลงไปในภาพยนตร์ มุมมองความสวยของเดียร์นั้นเป็นแก่นหลักที่ภาพยนตร์อยากจะนำเสนอ แน่นอนว่าคนที่มีสายตาดีมองสิ่งต่างๆอย่างที่ตาเห็น พวกเราจำกัดความสวยงามอยู่ที่รูปลักษณ์ เมื่อเรามองดอกไม้ที่พริ้วไหว เราก็จะบอกว่าดอกไม้นั้นสวยดี ถ้าหากเรามองไปที่มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม เราก็จะมองไปว่าเขาเป็นคนสวย หล่อ แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เรามองมันใช่สิ่งที่เราเห็นหรือเปล่า ความเป็นจริงดอกไม้พริ้วไหวตามสายลมที่เรามองว่าสวยหารู้ไม่ว่ามันอาจจะเป็นดอกไม้ที่มีพิษร้ายแรง ที่เราอาจตายได้ถ้าเราไปดมมัน หรือ บุคคลที่เรามองว่าสวยหล่อ อาจกลายเป็นว่าปกปิดความอัปลักษณ์ที่อยู่ในจิตใจของเขา แล้วอะไรคือความสวยงามที่แท้จริง “เดอา” เป็นเด็กสาวที่ตาบอดแต่กำเนิด เธอไม่เคยรับรู้ว่าการเห็นสิ่งที่สวยงามเป็นอย่างไร แม้ว่าคนเราจะพยายามนิยามคำว่าสวยงามของเธอมากแค่ไหน แต่ความสวยงามที่เธอสัมผัสได้มันไม่ใช่เพียงแค่รูปร่างหรือหน้าตา แต่มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น ฌองปิแอร์อธิบายต่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่องนี้เป็นเรื่องของข้อขัดแย้งและความต่าง ตั้งแต่ สวรรค์-นรก, คนรวย-จน, การแสดง-ชีวิตจริง ไล่ไปจนถึงแม้กระทั่งหน้ากากที่ “กวินแปลน” ใส่ที่จะมีหน้าตัวตลกกับหน้าที่ปราศจากหน้ากาก คำถามที่เกิดขึ้นคืออะไร ความงามหรือความอัปลักษณ์ แน่นอนว่าการนิยามความสวยงามนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกชน แต่ในเรื่องของความอัปลักษณ์ผู้กำกับมองว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างหากที่ดูอัปลักษณ์และน่าอดสูต่อสังคม
คริสตาร์ เทอร์เร่ รับบท เดอา เธอเปร่งประกายมากในบทของเธอ วิคเตอร์ อูโก้ เป็นนักเขียนคนแรกๆ เลยที่เขียนบทให้เห็นคนที่สวยงามของคนที่มีฐานะต่ำต้อยในสังคม เพราะก่อนหน้านี้ความสวยงามในนิยายส่วนใหญ่นั้นจะเป็นสิ่งที่เขียนขึ้นในสังคมอันสูงศักดิ์ เรื่องราวเกิดขึ้นในฐานันดรที่สูงกว่าคนยากจนนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีนักเขียนที่หาญกล้าหยิบยกเรื่องราวของฐานันดรที่ต่ำกว่า แต่มีความสวยงามที่มากกว่าคนที่มีฐานะทางสังคม
ผู้กำกับฌองปิแอร์ค้นพบนักแสดงอย่าง เทอร์เร่ ในภาพยนตร์เรื่อง LOL(Laughing Out Loud) เขาเห็นนักแสดงคนนี้แล้วเขาคิดเลยว่าเธอคนนี้เหมาะสมมากที่จะเล่นในภาพยนตร์เงียบ มันสำคัญกับเขามากเพราะผู้กำกับคิดอยู่เสมอว่าเขาอยากที่จะทำภาพยนตร์ในยุคที่เขารักมาก นั่นก็คือช่วงภาพยนตร์เงียบของฮอลลีวู้ด ยุคนั้นภาพยนตร์ของ ชาลี แชปลินเป็นที่นิยมอย่างมากและเขาเห็นแววของ เทอร์เร่ ซึ่งเหมือนกับนางเอกในภาพยนตร์ของชาลี แชปลิน เขาหยิบภาพยนตร์ อย่าง City Lights ของชาลี มาประกอบการคัดเลือกนักแสดงแล้วเห็นว่า ใบหน้าและแววตาของเทอร์เร่นั้นแทบจะเหมือนกันทุกอย่าง
ในคาแรกเตอร์ของ เออซุส พ่อบุญธรรมที่รับ “กวินแปลน” และ “เดอา” ไปเลี้ยงนั้นรับบทโดย เจร่า เดอปาดิเออร์ (Gerard Depardieu) เขาเป็นคนเดียวในคาแรกเตอร์ทั้งหมดที่เราแทบจะไม่ต้องมาทำการคัดเลือกนักแสดง เพราะเขาคือตัวเลือกแรกมาตั้งแต่คิดเริ่มทำโปรเจคท์นี้ขึ้นมา จริงๆแล้ว เจร่า เดอปาดิเออร์ ในสมัยที่ยังหนุ่มกว่านี้ เขาเป็นคนปลุกปลั้นกระแสบทประพันธ์ของ วิคเตอร์ อูโก้ ด้วยความหวังว่าเขาจะได้แจ้งเกิดกับบท “กวินแปลน” แต่แล้วโครงการก็ล่มไป จนมาถึงปัจจุบันซึ่งเราก็เห็นว่าเขาเหมาะสมมากที่สุดแต่แรกอยู่แล้ว
เกี่ยวกับงานสร้าง
แม้ในนิยายของ วิคเตอร์ อูโก้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษในสมัย ศตวรรษที่ 17 แต่ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ และ โรลองค์ (ผู้ช่วยผู้เขียนบทภาพยนตร์) ไม่ต้องการที่จะชี้ชัดไปว่าเรื่องราวเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ พวกเขาเลือกที่จะบอกเพียงแค่ “กาลครั้งหนึ่งในดินแดนอันไกลโพ้น” ไร้ซึ่งแง่ข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์หรือด้านปรัชญาที่ วิคเตอร์ อูโก้ ได้สอดแทรกลงไปในนิยาย เพื่อที่จะได้สามารถโฟกัสไปที่เรื่องของตัวละครที่เขาทั้งสองต้องการที่จะเล่านั่นคือในตัวของ “กวินแปลน” นั้นให้ได้มากที่สุด
“ผมรู้สึกกินใจไปกับเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการเติบโตของตัวละคร” ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ กล่าว ด้วยความที่ตัวละครอย่าง กวินแปลนนั้นจะต้องเป็นตัวละครที่มีความอัปลักษณ์ทางใบหน้า กวินแปลนคิดว่าเขาไม่สามารถที่จะรักหรือเรียกร้องความรักจากใครได้เลย เขามีปัญหาทั้งจากรูปลักษณ์ และปัญหาทางด้านสังคมชนชั้นอีกด้วย ดังนั้นฌองปิแอร์ ผู้มีความหลังในอดีตของตนเองและรู้สึกถึงความท้าทาย รักที่จะทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความผิดแปลกของรูปลักษณ์ของตัวละครอยู่เสมอ เขาต้องการที่จะโฟกัสไปที่ปัญหาของวัยรุ่น หรือใครก็ตามที่บกพร่องทางสังคมหรือชนชั้น แล้วเชื่อมโยงไปถึงคนดูภาพยนตร์ที่ว่าตนเองก็เป็นคนมีปัญหาเช่นเดียวกันกับตัวละครและพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อที่จะก้าวผ่านปัญหาช่วงนั้นไปให้ได้ นับว่าเป็นงานหนักของฌองปิแอร์เลยที่จะต้องศึกษาทั้งทางเรื่องสังคมวิทยาและจิตวิทยา
การเนรมิตโลกแห่ง THE MAN WHO LAUGHS
งานการเนรมิตภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้กำกับต้องมีมุมมองของเขาที่ชัดเจนเป็นอย่างมาก หลังจากที่ ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ ประสบความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่อง Romantics Anonymous ซึ่งเป็นภาพยนตร์ตลก ทุกคนก็ต่างหวังจะให้เขากลับไปทำหนังตลกอีกครั้งแต่เขาก็ตัดสินใจไปแล้วว่าเขาจะต้องทำ THE MAN WHO LAUGHS ให้ได้ แรงบัลดาลใจของเขาเป็นความต้องการส่วนตัวทั้งสิ้น เขาเสริมอีกว่า เขาต้องการสร้างอาณาจักรแห่ง THE MAN WHO LAUGHS ขึ้นมา เขาอยากจะสร้างโลกแห่งนิยายที่ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เขาทำทุกอย่างตั้งแต่ การสร้างลานการแสดง, ราชวัง หรือแม้กระทั่ง แม่น้ำ ซึ่งเราก็ถ่ายในฉากบลูสกรีน
ฌอง ปิแอร์ อเมรีส์ และทีมงานเริ่มคิดตั้งแต่ เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงดนตรีที่จะใช้ แรงบัลดาลใจของผู้กำกับนั้นเยอะมาก ไล่ไปตั้งแต่ งานเขียนของ Edgar Allan Poe งานศิลปะของประเทศรัสเซีย, อังกฤษ, ยุโรปตะวันออก หนังแฟนตาซี หนังของ Andrei Tarkovski, Fellini ไปจนถึงงานของ Tim Burton อย่าง S weeny Todd and Sleepy Hollow ทั้งเขาและผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย “โอลิวีเอ้ เบอริโอ” (Olivier Beriot) ตัดสินใจที่จะออกแบบเครื่องแต่งกายให้ไม่ดูเชย
แม้กระทั่งจะอยู่ในยุคสมัยนี้ เขาอยากจะให้คนดูจินตนาการตนเอง สามารถเป็นได้ทั้งกวินเพลนหรือว่าเดียร์ได้เลย เขายกองค์ประกอบอย่าง เคิร์ท โคเบน, จิม มอริสัน หรือนักดนตรีร็อคคนอื่นๆ ดังนั้นชุดของกวินเพลนจึงได้กางเกงยีนส์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชุด
การถ่ายทำ 90 เปอร์เซ็นของงานนั้นต้องถ่ายทำในสตูดิโอเป็นงานที่ท้าทายมาก โปรดักชั่นดีไซน์เนอร์อย่าง แฟรงค์ ชวาส (Frank Schwarz) ต้องสร้างสรรค์ทุกสิ่งที่เริ่มจากศูนย์ พวกเขาใช้เวลา 8 สัปดาห์เต็มในการทำพรีโปรดักชั่น จากนั้นก็บินตรงไปสู่ บารันดอฟสตูดิโอ (Barrandov Studio) แล้วใช้เวลากว่าอีก 7 สัปดาห์ในการสร้างฉากแรกของหนังจนถึงฉากงานคานิวัล พวกเขาใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 21,000 ตารางฟุต ต้องมีการถมดิน สร้างรถม้า สร้างเต็นท์ พวกเขาสร้างแทบจะทุกอย่างขึ้นมาใหม่
สิ่งที่ผู้กำกับอยากได้นอกจากฉากงานคานิวัลคือเขาอยากได้ฉากปราสาท ผู้กำกับกำชับมาว่าเขาอยากได้ปราสาทที่ใหญ่โอ่อ่า แต่ในขณะเดียวกันก็อยากได้อารมณ์เหมือนกับว่าที่แห่งนี้เป็นสุสาน เป็นที่แห่งความโศกเศร้า เขาอยากได้ห้องนอนใหญ่ๆ ห้องรับแขกที่มหึมา และทางเดินห้องโถงที่ดูเหมือนว่าไม่มีจุดสิ้นสุด ผู้กำกับอย่าง ฌองปิแอร์ เล็งเห็นส่วนสำคัญของเสียงเป็นอย่างมาก เขาจึงต้องพิถีพิถันในการเลือกดนตรีประกอบ เพลงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องราว แรงบันดาลใจของเขามาจากเพลงประกอบในภาพยนตร์ของผู้กำกับขึ้นหิ้งอย่าง อัลเฟรด ฮิชค็อก เขานำเอาบทประพันธ์ของ เบอร์นาด เฮอร์แมน (Bernard Hermann) ผู้ทำดนตรีประกอบในเรื่องอย่าง Citizen Kane มาเป็นแรงบันดาลใจ เขาเลือกที่จะใช้เสียงที่มีอารมณ์โรแมนติก ซาวด์แวดล้อมต่างๆ เสียงที่มีความลึกลับ ซับซ้อน และมีกลิ่นความเป็นโอเปร่าอยู่นิดๆ
รอยแผลเป็นบนใบหน้าของกวินเปลน
ในภาพยนตร์ฉบับปี 1928 นักแสดงผู้รับบท กวินแปลน คือ “คอนราด เวท์” (Conrad Veidt) ได้ใช้ก้อนยางใส่ไว้ในปากของเขาเพื่อที่จะทำให้เขาได้แสยะยิ้มจนเห็นฟัน แต่ผู้กำกับ ฌองปิแอร์ ไม่ต้องการแบบนั้น เขาเห็นผู้ชายที่เคยมีรอยแผลเป็นมาตั้งแต่ยังเด็ก เขาต้องการความสมจริงที่ว่าเรื่องราวของเด็กคนนั้นได้มีรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นจากการโดนกรีดด้วยมีดผ่าตัดเพื่อให้เขาเหมือนตัวตลก ดังนั้นจึงต้องใช้ช่างแต่งหน้าที่มีความสามารถสูงมาก เพื่อที่จะทำให้หน้านั้นดูสมจริง โดยการสร้างหน้าที่เกิดขึ้นนั้นพวกเขาใช้เวลาอยู่หลายเดือนเลยทีเดียวกว่าจะได้แบบที่ต้องการ และเมื่อได้แบบที่ต้องการ ช่างแต่งหน้าต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงทุกเช้าก่อนเริ่มถ่ายทำ ซึ่งทำให้ “มาร์ค อองเดร กรองแดง” ต้องประสบกับปัญหาในกองถ่ายทำ มันทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวที่จะต้องตื่นมาเพื่อเตรียมตัวก่อนคนอื่นๆ จนบางครั้งมันทำให้เขารู้สึกไม่เข้าพวกและไม่สนิทสนมกับคนอื่นเท่าไหร่นัก ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ผู้กำกับอยากให้เขารู้สึกเช่นเดียวกัน เพื่อบางทีมันอาจจะทำให้เขาเข้าใจในบทบาทที่เขาได้รับยิ่งขึ้นและแสดงออกมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
บันทึกภาพ: MONOFILM