“คือถ้าท่านเป็นคนไทย เรื่องนี้ตอบคำถามได้ว่าแผ่นดินถิ่นเกิดของท่านเป็นชาติไทยมาได้ยังไง
หนังเรื่องนี้ที่ต้องดูเพราะผมเชื่อว่าคุณจะไม่ได้เห็นการทำงานที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้
ในอีกสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี หรืออาจจะตลอดช่วงชีวิตของผม”
ตั๊ก นภัสกร มิตรเอม รับบท พระมหาอุปราชา
ใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี”
Q. กำลังมีผลงานที่เรียกได้ว่าได้รับบทบาทสำคัญมากในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ยุทธหัตถี กับบทที่หลายคนบอกว่า เป็นอีกหนึ่งผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ของคุณตั๊ก
A: ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการบันเทิงจากงานละครเมื่ออายุ 22 ครับ เล่นละครเวทีถ้านับเป็นรอบๆ ก็เป็นพันๆ รอบ หลายเรื่อง หลายรอบ บางเรื่องก็เล่นเป็นปี จากนั้นก็มาเล่นละคร รับบทตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย จนกระทั่งเป็นตัวสำคัญ.ตัวดีบ้างตัวร้ายบ้าง แล้วค่อยมาถึงภาพยนตร์ ทุกวันนี้ก็ถือว่าทั้ง3 ศาสตร์นี้ผมผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังอยากผ่านอีก และยังมีส่วนที่ทำรายการอีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์จากการที่ได้เรียนมา หรือรายการอาหารอย่าง ถึงพริกถึงขิงผมยังทำอยู่ ทุกวันนี้ผมยังแฮปปี้ ยังอยากทำรายการอย่างนี้ต่อไป รายการเกมส์โชว์ เป็นพิธีกรในอนาคตที่มีเพิ่มมาอีกรายการหนึ่งแล้วครับ ช่อง HD เราก็จะทำละครป้อนช่อง อันนี้เป็นการหุ้นกัน แล้วจะบอกข่าวความคืบหน้าต่อไปนะครับ อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากทำในชีวิตคือภาพยนตร์ขอแค่เรื่องเดียวสักครั้งหนึ่ง เป็นเป้าหมายในชีวิตในโอกาสต่อไปครับ ผลงานล่าสุด คือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครับ
Q.ถ้าพูดถึงท่านมุ้ย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ในมุมมองที่เรามีต่อผู้กำกับ ภาพจำที่เรามีต่อผู้กำกับที่เรียกได้ว่าเป็นครูใหญ่ในวงการภาพยนตร์ไทย
A. ความจริงผมไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน แม้ว่าผมอยู่ในวงการตั้งแต่เด็กจนโต ถึงเคยดูภาพยนตร์แต่ก็ไม่รู้จักรู้จักแต่พระเอกนางเอกที่เราดูในสมัยก่อน จนกระทั่งโตขึ้น เราก็ไม่คิดว่าจะได้เจอตัวจริงก็ตื่นเต้นนะ อย่างเมื่อก่อนที่ผมชอบก็มี พี่เอก-สรพงษ์ ชาตรี น้าแอ๊ด-สมบัติ เมทะนี จตุพล ภูอภิรมย์ อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา ตอนเด็กๆ ชอบดูหนังของพี่จตุพล ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วนะครับ “พรุ่งนี้ก็สายเกินไป” เป็นเรื่องที่ผมชอบมาก แล้วก็ ป๋าส. อาสนจินดา และอีกหลายท่านเลยครับที่ อย่าง อุกาฟ้าเหลือง ก็เป็นอีกเรื่องที่ชอบ โดยไม่ทราบหรอกว่าท่านมุ้ยกำกับ แต่วันหนึ่งก่อนที่จะได้มาพบท่านมุ้ย – ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เอ๊ะ..ผมเคยได้ยินชื่อท่านครั้งแรกเลยคือสุริโยไท จนกระทั่งมีโอกาสไปถ่ายละครเรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพี่นก-ฉัตรชัย เป็นพระเจ้าตาก ผมเป็นพระยาพิชัย แล้วก็มีทีมงานมาคุยกับพี่นก คนหนึ่งถามว่าอยากทำงานกับท่านมุ้ยมั้ย ผมก็ตอบตรงๆ ฮึ้มม.. (ส่ายหน้า) คือเราไม่ได้คิดอะไรนะแต่รู้สึกว่า ไม่รู้จะวางตัวยังไงด้วย แล้วท่านจะอะไรเราหรือเปล่า อย่าเลยไม่เอาดีกว่าครับ คือดูแล้วไกลตัวมาก หลังจากนั้นไปก็มีข่าวว่าท่านทำต่อจากสุริโยไท เป็นตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนนั้นผมทำร้านอาหารหุ้นกับพี่นก-ฉัตรชัย และพี่ๆอีกหลายคน อย่างไก่-วรายุทธ พี่ถั่วแระ พี่ทองขาว พี่เกม-สันติ พี่หมึก-อภิชาติ ชูสกุล ซึ่งปัจจุบันพี่หมึกก็จากเราไปแล้ว แต่เวลาพูดถึงท่านทุกคนก็จะบอก เฮ้ย ตั๊กไปลองเล่นมั้ย ได้ข่าวว่าท่านจะบวงสรวง แล้ววันที่ท่านบวงสรวงผมอยู่ที่ร้านอาหาร ก็ไม่ได้ไปครับ สุดท้ายทุกคนก็มาเล่าอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น โอ้โห…มีความสุขจังเลย
ผ่านไปสองปีกว่าร้านอาหารเราเลิกทำแล้วตอนนั้น ผมกลับไปร่วมงานกับครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน เป็นครูผม ท่านทำละครเวทีเรื่องร่ายพระไตรปิฎกซึ่งเป็นโปรดักชั่นที่เกี่ยวกับกลอง และผมเป็นคนตีกลอง ยืนหันหลัง เรื่องนั้นเป็นที่นิยมมากของชาวตะวันตกที่มาประเทศไทย แล้วมีผู้ช่วยผู้กำกับของท่านมุ้ยไปดูกันสองคน พอจบปุ๊บก็มาดักเจอเราข้างนอก บอกว่าต้องการหาคนแสดงการตีกลองรบในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขาเห็นเราตีกลองแล้วก็คิดว่าจะเอาคนนี้แหละ แล้วก็มาคุยกัน..ถามว่าไปตีกลองมั้ย ผมก็บอกได้เลยครับสบาย ฉากรบเหรอ คุยไปคุยมา ไม่เอาตีกลองแล้ว คือจะเอาเธอไปทำอย่างอื่น ก็ไปเจอท่านมุ้ยวันแรกก็เถียงกันใหญ่เลยครับว่าจะให้เป็นอะไร..เป็นลักไวทำมู..เป็นอะไร คือพูดตรงๆ ถ้าชื่ออย่างพระมหาอุปราชาเราพอจำได้ สมัยเด็กๆเรารู้เรื่องพระนเรศวรอยู่บ้าง รู้ว่าท่านทำยุทธหัตถี แต่ไม่ค่อยรู้ลึกรู้มากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ตอนเด็กๆคุณพ่อคุณแม่ให้ห้อยเหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ เราก็ชอบอยู่แล้ว เพลงพี่แอ๊ดนี่มันก็ตราตรึงอยู่ในหัวเราอยู่แล้วใช่มั้ยครับ “เอาช้าง มาชนกับช้าง”(ร้องเพลง) เราชอบปลุกใจรักชาติ เราเชื่อว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ เราเชื่อว่าท่านปกครองแผ่นดินนี้แล้วท่านเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ทีนี้เมื่อถึงตรงนั้นความรู้สึกก็หลั่งไหลพรั่งพรูนึกในใจคือยืนลุ้นเงียบๆเลยนะว่าจะได้เล่นเป็นอะไร เขาก็เถียงกันไม่หยุด..เอางี้กลับบ้านไปก่อนแล้วกัน แต่มันก็แปลก..คือก่อนที่พี่ๆ เขาจะไปหาผมที่นั่นเป็นช่วงต้นปี.. ปีนั้นพอดีละครทีวีจบหมด ผมไม่ได้ทำอะไร ก็เล่นแต่ละครเวทีอยู่เกือบปีกว่านะครับ โดยไม่ได้เล่นละครทีวีเลยซักช่องเดียว รู้สึกว่าอยากเข้าไปร่วมกับโปรดักชั่นนี้มากๆเลย คือทุกคนพูดว่าอย่างน้อยได้มีส่วนสักนิดหนึ่งก็ถือว่าอยู่ในหนังประวัติศาสตร์เรื่องนี้ กลับบ้านจุดธูป 15ดอก แล้วก็สวดทุกอย่างที่สวดเป็นครับ คือบูชาท่านแล้วก็ตั้งจิตว่าขอผมเล่นสักตัวหนึ่งครับ.. ตัวไหนก็ได้ แล้วก็กราบท่าน ผมสวดอย่างนี้ทุกวัน จนครบสักสิบห้าวันพี่ๆ เขามาเจอผมที่โรงละคร เราก็ยกมือท่วมหัว ..วันนี้เราได้เจอท่านมุ้ย แล้วผมก็ไปแต่งตัวเป็นชุดนู้นชุดนี้ชุดเกราะบ้างเขาก็ยังไม่บอกผมนะ
ในที่สุดก็มาบอกว่า ตั๊ก..ตกลงท่านให้เป็นมังสามเกียดนะ..เริ่มคุ้นๆหูนะเขาถามรู้จักไหม มังกะยอชวา ก็ที่ชนช้างไง อ๋อ!!(ตบเข่า)โถ…กลวงจริงๆเลย ค่อยๆซึมเข้ามาๆค่อยๆค้นหาประวัติศาสตร์กันครับ..แล้วก็ไม่ได้เจอท่านมุ้ยอีกเลย คือไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับท่านนัก จนกระทั่งไปกาญจนบุรี วันแรกเขาให้แต่งตัวก่อน..ไปถึงก็โอ้โห..กองใหญ่โตมโหฬาร เข้าไปมีสิงห์สองตรงทางเข้า อลังการ ข้างในจะเป็นอย่างไรใจนี่เต้นตุบๆๆเลยนะ เข้าไปแต่งตัวเราก็นิ่งๆนะครับทำฟอร์มไว้ก่อน ขรึมๆ ไม่ค่อยรู้จักใคร ผู้คนมากมายเต็มไปหมด แต่งหน้าแต่งตัวเรียบร้อยเสร็จก็ไปที่เซ็ต ระหว่างที่เดินไปเจอท่านนี่เห็นกล้องเห็นคนเต็มเลย มีทหารมีม้าวิ่ง…เราชอบม้าอยู่แล้วเพราะถ่ายพระเจ้าตากมา เราเป็นพระยาพิชัย ก็มองม้ามองอะไรไป อ้าว..เจอตากล้องสมัยนั้นเป็นน้ากล้วย (ณัฐวุฒิ กิตติคุณ ผู้กำกับภาพโหมโรง,จันดารา,นางนาก ฯลฯ) เราก็..“หวัดดีน้ากล้วย น้ากล้วยเป็นไงมั่ง” ตะโกนลั่นเลยด้วยความที่คุ้นเคยกัน ไม่เห็นหรอกครับว่าใครบางคนนั่งอยู่ที่มอนิเตอร์ทางขวา พอเรา”น้ากล้วยเป็นไงมั่ง” ก็มีเสียงตอบมา เราก็หันขวับ..โอ้ย…สวัสดีครับ โห…คำแรกที่ทักกัน นั่นแหละครับคำแรกที่ผมได้จากท่านในวันที่ผมเดินเข้ากองภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช…ขอบคุณครับท่าน(ยกมือไหว้) เป็นคำแรกที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยนะฮะ..เป็นความประทับใจแรกที่เจอท่านครับ
Q.นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากเข้ากองถ่ายตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นครั้งแรก แต่พอได้สัมผัสตัวตนและได้ร่วมงานกับท่านจริงๆแล้วท่านมุ้ยเป็นอย่างไรบ้าง
A.ท่านเป็นกันเองในการพูดคุยมาก ท่านให้ความรู้สึกเหมือนกับผู้ใหญ่ เหมือนเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ที่แบบ “เฮ้ย งี้ๆแล้วเอ็งคิดว่าไง” ก็จะมีอย่างนี้ครับท่าน..จะเป็นลักษณะแบบนี้ .เราจะตอบยังไงท่านจะแชร์ทุกอย่าง แต่ท่านจะบอกเหตุผลก่อน ท่านจะบอกข้อมูลก่อนคือจะทำการบ้านมามีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ผมเห็นหนังสือท่านเป็นตั้งๆๆเวลาท่านนั่งในรถโอบี ท่านจะเรียกนักแสดงทุกคนเข้ามาแล้วท่านก็จะ มาดูนี่แล้วท่านก็หยิบหนังสือมา เราก็มอง (ทำท่าแสดงจำนวนหนังสือ) ท่านก็เลือกมาให้ คือท่านจำได้(หัวเราะ) ยิ่งกว่าตำราเรียนนะครับ สิ่งที่ท่านค้นหาอยู่นี่มันเป็นกองๆเราก็รู้สึกน่าทึ่งมาก แต่นั่นยังไม่เท่าวันที่ผมรู้สึกว่าท่านได้ใจผมไปเต็มๆ คือวันที่ถ่ายฉากมวยปล้ำ เราเริ่มกันตอนหกโมงเย็นโดยประมาณ แต่มันไม่เป็นอย่างที่คิด จริงๆแล้วมันไม่มีบทมวยปล้ำ พวกพี่ๆ ผู้ช่วยผู้กำกับก็บอก ‘เฮ้ยมันมีฉากแบบรูปนี้มาว่ะ’ เขาก็ให้ดูรูปโบราณเป็นการเล่นแบบมวยปล้ำแต่เป็นภาพนะ เป็นภาพโพสต์ต่างๆประมาณ 3 ท่า ‘อันนี้พี่ขายท่านไปแล้ว’ คนโบราณเขาเล่นเหรอ..เราก็เพิ่งทราบ จริง!เขาเล่นอย่างนี้ๆ ก็เลย..หนึ่ง-ชลัฎ มาน้อง เดี๋ยวเรามาคิวบู๊กันดีกว่า ทำกันเองนั่นแหละครับตรงนั้นเลยสดๆ หุ่นเหิ่นก็ไม่ได้เตรียมอะไรมาเลยนะพี่นะ คือมาถึงก็ทำเลยจัดการแต่งตัวติดสติ๊กเกอร์ใส่ผ้าเตี่ยวสองชั่วโมง คือเป็นความรู้สึกตื่นเต้นแต่ว่าประเด็นสำคัญคือเมื่อเล่นไปแล้วเราต้องโดนพ่อตบ ก็ถ่ายไปได้ถึงประมาณตีสอง พี่ต้น-จักรกฤษณ์ ต้องมาตบหน้าเรา ปรากฏว่าท่านมุ้ยป่วย…ต้องมีพยาบาลมาฉีดอินซูลินแล้วท่านต้องหลับตีสาม…น้ำตาผมค้างอยู่แบบนี้บอกทุกคนอย่าแตะอย่าแตะผม อารมณ์เราต้องอยู่ รอท่านหลับตีสี่กว่าท่านตื่น..ผมนึกในใจว่าท่านจะไปไหนต่อ…ถ่ายต่อ! เราก็ถ่ายจนเลิกแปดโมงเช้า คือถ้าฟังอย่างนี้อาจจะเฉยๆนะ แต่กับผู้ชายคนหนึ่งที่อายุมากกว่าเรากว่าเท่าตัวแล้ว ใจเขาไปถึงไหน..แล้วเขาฉีดอินซูลิน..เขาหลับอยู่ตรงนั้น..เขาไม่ได้ไปไหนเลย..เขาอยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้.. ผมคิดอย่างนี้จริงๆ พรุ่งนี้เราเสร็จก็กลับบ้าน แต่เขาอยู่..แล้วเขาก็สู้อยู่ตรงนั้น แล้วอีกกี่วันที่เขายังต้องอยู่…นั่นแหละท่านได้ใจผมวันนั้น ซึ่งได้เห็นฉากนั้นกันไปแล้วในภาคก่อน..ที่เล่นมวยปล้ำแล้วโดนตบหน้า ซึ่งพี่ต้นบอกว่าพี่ต้นไม่เคยผิดคิวเลย และวันนั้นพี่ต้นก็โดนครับ..ไม่ผิด..ถูกเผง(หัวเราะ)
Q.สรุปภาพของท้านมุ้ยในมุมมองของพี่ตั๊กคือ
A– ท่านเป็นคนที่ทำการบ้านมาก ท่านค้นคว้าหาข้อมูลมากมายก่อนที่จะมาทำโปรดักชั่นนี้หลายปีเลย ทั้งเรื่องเสื้อผ้าเรื่องเอกสารอ้างอิง ทั้งประวัติศาสตร์ทั้งพงศาวดาร ไม่ใช่แค่ของไทย แต่รวมถึงของพม่าและประเทศอื่นๆด้วยเพราะว่ามันก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน บางประเทศก็อาจจะบอกว่าอันนั้นไม่มีอันนี้มี ของเรามี ของเขาไม่มี แต่ที่แน่ๆท่านหาข้อมูลมาแล้วท่านบอกว่าเอาอันนี้ๆ ท่านเป็นผู้กำกับท่านต้องบอกเราดังนั้นสิ่งที่ท่านทำก็คือสิ่งที่ท่านเตรียมไว้ให้เราแล้ว ผมมีหน้าที่อย่าเดียวคือฟังท่าน วันแรกเรื่องของคาแรคเตอร์สำคัญที่สุด บุคลิกของนักแสดง..ผมไม่รู้จักมังสามเกียด…ท่านครับพระมหาอุปราชาเป็นยังไงครับ ท่านก็บอก และให้ข้อคิดว่าลองดูreferenceอย่างหนังฝรั่ง ให้ดูเรื่องเบรฟฮาร์ทที่วิลเลี่ยมเขาต้องสู้กับคิงเอ็ดเวิร์ด แต่ลูกชายของคิงเอ็ดเวิร์ดนิสัยแย่มาก ท่านให้ดูนิสัยลูกชายคนนี้ไว้ ลักษณะประมาณนี้นะแต่ไม่ได้บอกให้เลียนแบบนะ แค่ให้ดูแนว นั่นคือลักษณะของคาแรคเตอร์ พอดูแล้วเราก็เข้าใจครับ ท่านก็บอกว่า คือทุกสงครามที่พระมหาอุปราชาได้รบ พระมหาอุปราชาไม่เคยชนะ..ผมก็..อ๋อ จับประเด็นคำนี้ได้ว่าทุกอย่างในหัวใจของผู้ชายคนนี้เริ่มจากความพ่ายแพ้..นั่นคือสิ่งที่ท่านให้ผม คำแรกในหัวผมคือผู้ชายคนนี้เริ่มจากความพ่ายแพ้แก่พระนเรศฯมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นพระมหาอุปราชาจึงมีความพ่ายแพ้ปรากฎอยู่ในหัวใจตลอดเวลาที่มองหน้าพระนเรศฯ จากตรงนี้ถ้าจะพูดว่าผมเป็นนักแสดงมีหน้าที่ตีบทตีความจากเนื้อเรื่องจากสิ่งที่ผู้กำกับมอบให้
Q.แล้วถ้าพูดถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบซึ่งอันเป็นที่รักของคนไทย ในมุมมองของตั๊กนภัสกร เป็นอย่างไร
A. ตอบยากมาก แต่ถ้าให้ง่ายที่สุดสำหรับผมคือ..คุณลองนึกดูว่าแผ่นดินที่เราเหยียบเราเดินแต่ละก้าวนี้ ถ้าไม่มีพระองค์ท่านคุณจะยืนอยู่ในฐานะอะไร
Q. มาถึงบทบาทล่าสุดที่เรียกได้ว่าเข้มข้นทั้งในส่วนของดราม่า และแอ็คชั่นท้าทาย และน่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่งที่แฟนๆจะได้ชมกัน
A. ผมรับบทเป็นมังสามเกียดนะครับ และมีหลายชื่อครับ เมงเยสวา หรือมังกะยอชวา ส่วนพระมหาอุปราชา หรือมหาอุปราชเป็นชื่อที่ฝั่งไทยเราเรียก ในส่วนของคาแรคเตอร์ได้มาจากการพูดคุยจากการศึกษาข้อมูลของท่านมุ้ยและคุยกันในมุมของจิตวิทยาครอบครัวด้วย แล้วให้ผมไปตีความ-ทำความเข้าใจ คาแรคเตอร์ของมังสามเกียดจึงออกมาในเชิงของบุคคลที่มีความเก็บกด ในอารมณ์ของความสูญเสีย ทั้งชัยชนะ ทั้งความมั่นใจที่มีต่อพระนเรศวร โดยเห็นได้จากการปูพื้นมาตั้งแต่ตอนต้นภาคหนึ่งภาคสองแพ้มาตลอด ไม่ว่าจะชนไก่หรือศึกสามทัพสามเจ้าฟ้าตีเมืองคัง ก็พ่ายแพ้มาโดยตลอด จึงต้องการที่จะเอาชนะอย่างไรก็ได้ เคียดแค้นชิงชังพระนเรศวร ในขณะเดียวกันปมที่ไม่มีใครไว้เนื้อเชื่อใจ จึงต้องการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ให้คนอื่นเห็นว่าทำได้ เหมือนเด็กที่ทำผิดแล้วอยากแก้ตัวให้พ่อให้แม่เห็น แต่พ่อแม่ไม่เคยเห็นเลยไม่เคยให้โอกาส มีแต่ทับถม ในที่สุดก็ไม่มีกำลังใจให้ตัวเอง จึงเป็นคนขี้น้อยใจและพยายามที่จะเปิดออกอีกด้านหนึ่ง ผมก็เชื่อว่าว่านี่เป็นลักษณะของครอบครัวแบบหนึ่ง ดังนั้นทั้งสองเหตุผลนี้คือด้านครอบครัวและด้านส่วนตัวที่มีต่อพระนเรศฯ ประกอบกับอีโก้ ที่ตัวเองเป็นเจ้าชายรัชทายาท ทุกสิ่งทุกอย่างจึงถาโถมเข้ามาทำให้ตัวละครตัวนี้เป็นอย่างที่เห็น ในการศึกไม่ว่าในสมัยไหนผมเชื่อว่าทุกที่ก็ยึดถือสิ่งเหล่านี้ เราเองก็ต้องการฤกษ์งามยามดี ในส่วนของผมเองก็มีความเชื่อที่คิดว่ามหาอุปราชอาจไม่ได้กลัวก็ได้ แต่เขาต้องการความมั่นใจเต็มที่เพื่อออกไปรบกับพระนเรศวรให้รู้แพ้รู้ชนะ เขาเองก็ฮึกเหิมพอที่จะแสดงให้พ่อรู้ว่า พ่อ!ผมทำได้ แต่คำพูดของพ่อไม่ตรงใจนัก..ทำไมต้องทำอย่างนั้น นี่คือวิธีการของพ่อซึ่งไม่สนใจว่าลูกคิดอะไร นี่คือปัญหาครอบครัวและสุดท้ายปัญหานี้ไม่ได้ถูกแก้ไข เป็นจุดเปราะบางเล็กๆ
Q. ต้องมารับหน้าที่ถ่ายทอดตัวละครที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์ และในภาพยนตร์มีความยากง่ายในการที่จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
A.มันยากไปหมดเลยครับ จะเดินเหินอย่างไรยังกังวลเลย แต่ด้วยความที่เป็นนักเรียนนาฏศิลป์ได้สัมผัสกับครูบาอาจารย์มาบ้างก็ขออนุญาตเอากริยาท่าทางของอาจารย์มาใช้บ้าง คือความนิ่งความเชื่องช้าความเป็นมารยาท ไม่วอกแวกมากนัก เป็นอากัปกิริยาจากอารมณ์ความเก็บกด ความนิ่งของเจ้าชายของความเป็นราชวงศ์ในส่วนหนึ่ง แต่ส่วนข้างในผมเชื่อว่าทุกคนมีเหมือนกันนั่นคือความรู้สึก ฉะนั้นจะมีมุมมองที่แตกต่างกันอีก คือดุดัน เย่อหยิ่ง จองหอง มากกว่าเพราะต้องการอยู่เหนือพระนเรศฯ ความคิดความรู้สึกนี้ต้องอยู่ในใจของเมงเยสวา หรือ มหาอุปราชตลอดเวลา นั่นคือแรงกดดัน จะด้วยวิธีใดก็ตาม นี่คือวิธีคิดของมหาอุปราชในแง่มุมหนึ่งที่ผมมอง
การรับบทนี้ต้องเตรียมตัวอย่างจริงจัง ทั้งอากัปกิริยา ภาษาพูด และวิธีการมอง ผมมองว่าพระมหาอุปราชาความคิดที่เจ้าเล่ห์พอสมควร เพราะหนึ่งอาจจะได้รับการสนับสนุนจากหลายๆฝ่าย อย่างลักไวทำมู-ยอดฝีมือผู้เป็นอาจารย์ หรือมังจาปะโรที่เป็นคู่หูของเรา คือเหมือนคอยเสี้ยมสอน และส่งเสริมกันมาตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาน่าจะมีบุคลิกลักษณะที่เจ้าเล่ห์เพื่อให้เกิดความเหนือกว่า แต่ด้วยความที่พ่ายแพ้มาตลอดนี่ ผมเชื่อว่ามหาอุปราชย่อมมีความยำเกรงพระนเรศวร ถ้าจะปะทะกันโดยตรง เพราฉะนั้นท่วงท่าอากัปกิริยาหนึ่งข้าไม่กลัว แต่ข้างในก็..เฮ้ยไม่แน่เหมือนกัน ต้องมีดูเชิงกัน แต่ปากอาจจะเก่งไปก่อนด้วยความที่ข้าต้องเหนือกว่าเอ็ง สิ่งเหล่านี้มันก็เลยผนวกกันทำให้บุคลิกลักษณะของเขา มีโอ่บ้าง ในแง่ของการศึกสงครามเพื่อให้เกิดความมั่นใจ วิธีการพูดกับสายตาผมไม่เชื่อว่าจะนิ่ง ดังนั้นทุกครั้งที่เมงเยสวาพูด..ความคิดและสายตามันทำงานอยู่ตลอดเวลา มหาอุปราชอาจไม่ได้คิดว่าต้องเหยียบคนนั้นเหยียบคนนี้ แต่มีเป้าหมายว่าต้องไปให้สูงที่สุดเพื่อกดหัวพระนเรศฯให้จมลงไปให้ได้
Q.เห็นว่านอกจากแอ็คติ้งทางด้านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครและการแสดงแล้ว ยังต้องเตรียมตัวในส่วนของแอ็คชั่นเพราะต้องมีฉากการทำยุทธหัตถีต่อสู้บนหลังช้างด้วย
A.นั่นคือสุดยอด…ตอนที่มาเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้ผมใช้ดาบสองมือเป็นแล้ว อย่างง้าวนี่ผมไม่เคยจับนะครับ ที่นี่ฝึกขี่ม้าทุกเช้า ผู้พันเบิร์ดช่วยได้มาก ต้องบอกว่าเป็นบุคคลที่น่ารัก ไม่เคยปิดบัง…ช่วยแนะนำเสมอ สงสัยผมอะไรถามเขาได้หมด…อย่างนี้กินได้มั้ย ออกกำลังกายอย่างนี้ถูกมั้ย. แม้กระทั่งขี่ม้า เขาจะสอนให้ด้วยนอกจาก ทีมไรเดอร์(ผู้ฝึกสอนและซ้อมขี่ม้า) แล้วก็มี ผู้พันเบิร์ด กับพี่ต๊อด สิ่งที่เราได้รับจากตรงนี้คือความอบอุ่น แต่ละคนก็เอาวิชามาใส่ๆ ในคาแรคเตอร์ตามที่ได้รับ เป็นเรื่องของความรู้ที่ทุกคนมอบให้เราด้วยความรักความเอ็นดูเป็นแบบพี่น้องกันนะครับ ทุกวันนี้ยังอยากจะกลับไปอยู่ตรงนั้นอยู่เลย กลับไปขี่ม้าตก เย็นนั่งทานข้าวกัน แล้วเบิร์ดจะแนะนำวิธีการเบิร์น ให้เตรียมพร้อมกับการซ้อมต่อไปเพื่อจะรบเพื่อจะฝึก กลางแดดครับ เราถึงดำกันขึ้นเรื่อยๆ ตอนภาคสองนี้หน้ายังขาวอยู่นะ ทาแป้งขาวก็ขาว พอภาคสามภาคสี่ทาแป้งขาวแต่อุปราชเริ่มไม่ขาวแล้ว(หัวเราะ) อย่างชุดเกราะมหาอุปราช ถ้ารวมง้าวด้วยนี่น้ำหนักก็ประมาณ 30 กิโลได้ครับ ใส่ตั้งแต่เช้าจนเย็นไม่ถอดครับ เราใส่กันเป็นเสื้อยืดเลย เทคนิคของผมคือถ้าเจอชุดหนักๆอย่าใส่แบบหลวม เพราะถ้าหลวมจะไปกดอยู่ที่ไหล่ ให้รัดทุกอย่างให้กระชับเหมือนชุดโขนครับ ต้องให้น้ำหนักกระจายทั้งตัว คือให้อก และหลังช่วยรับน้ำหนักด้วย ถ้าถอดปุ๊บจะไม่อยากใส่อีก จำได้ว่าตอนยุทธหัตถีนั่นใส่ชุดเกราะวิ่งได้แล้วนะ ชินกับน้ำหนักแล้ว ถอดแล้วตัวเบามาก ส่วนง้าวนี้ขอกลับบ้านเลยไปควงเล่นฝึกให้ชินมือ เพราะง้าวของผมหนักกว่าของเบิร์ดเท่าหนึ่ง ด้วยความที่ลวดลายเขาแต่งเยอะ ไม่งั้นก็ไม่วิจิตรตามแบบฉบับของหงสาฯ มีการเตรียมพื้นที่ เตรียมเวลาในการฝึกซ้อมด้วย ตัวผมเองก็ต้องไปฝึกกับอาจารย์ที่มาหลายๆคนก็ดี กลับไปบ้านต้องฝึกเองด้วย ทุกวันไม่ขาด วินัยตรงนี้ทิ้งไม่ได้เลย
Q.เห็นชุดที่สวมใส่อลังการมากๆ อย่างนี้แต่ละครั้งในการสวมชุดต้องเผื่อและใช้ระยะเวลาในการแต่งตัวนานแค่ไหนอย่างไร
A. ประมาณครึ่งชั่วโมงครับ ช่วงหลังแค่สิบนาทีเสร็จแล้ว พอจะรู้แล้วครับว่าส่วนไหนแค่นี้พอ ทุกส่วนรู้กัน เวลาขี่ช้างหรือขี่ม้าต้องมีตัวโกลนที่มันจะไปบาดได้ก็ต้องกันไว้ เขามีคนมานั่งผูกเรียบร้อย ทีมงานน่ารักทุกคนพอใส่ปุ๊บข้างหลังก็จะผูกมัดเย็บๆๆ เรื่องสำคัญต้องไหว้ครับ ครั้งแรกที่ผมเข้ากองถ่าย พอเท้าเหยียบท้องพระโรงหงสาฯ ปั๊บไฟดับหมดเลยท่านมุ้ยเปิดประตูเข้ามาง่ายๆเลยครับ ตั๊กไปจุดธูป..เป็นอันว่ารู้กัน…นี่เรื่องจริงครับ เพราะว่าผมไม่ได้มาบวงสรวงวันที่สมเด็จพระราชินีท่านเสด็จมาบวงสรวง และเปิดกล้อง
Q. ภาพช้างที่กำลังทำศึกยุทธหัตถีโดยมีพระมหาอุปราชาใส่ชุดเกราะเต็มยศ กำลังเงี้อง้าวฟันกับพระนเรศวรที่อยู่บนหลังช้าง ต้องมีเครื่องทรงทั้งคนและช้าง แต่สังเกตว่าดูเหมือนทางฝั่งพม่าจะดูวิจิตรอลังการกว่า
A. ไทยจะเป็นรองในเรื่องนั้นจริงๆ เพราะท่านบอกว่าตั้งแต่สมัยบุเรงนอง ทรัพย์สินของหงสาฯมหาศาลอยู่แล้วครับ ชุดแบบนี้ เฉพาะเสื้อบางส่วน เป็นเหมือนสังกะสีกับเรซิ่นผสมกัน เวลาเดินมันจะดังคร่อกๆๆ แล้วก็หนักมาก กระบวนการหลายขั้นตอน แต่งทีละชิ้น โดย ใส่สนับเพลาเอง แล้วมีคนมาช่วยแต่ง นุ่งผ้า แล้วก็ใส่ชุดเกราะทับแล้วคนหนึ่งผูก ที่เหลือก็จะมาใส่ข้างนั้นข้างนี้แล้วผูกอีกด้านหลังเย็บ แค่แขนก็ต้องดึงเย็บผูกแน่นกันข้างละคน ยังมีกรองคออีกนะครับที่ต้องมานั่งเย็บกันอีกหลายชั้น แล้วก็มาหัวแต่ใหม่ๆนี่บาดนะ แล้วหูผมไม่ได้เจาะนะสังเกตดีๆใช้ตุ้มหูหนีบ ติดกาวครับ ทุกครั้งที่เล่นเสร็จกลับบ้านนี่หูผมห้อเลือดทุกครั้งเลยนะเพราะบีบแน่นสุดๆแล้วเอากาวติดครับ บางทีถลอกเลือดออกก็เป็นเรื่องปกติ น้ำหนักรวมแล้วทั้งหมด 30 กิโลโดยประมาณ ก็ต้องบอกว่าโอ้..สุดยอดแล้ว
Q. กว่าจะเริ่มต้นถ่ายทำฉากยุทธหัตถีได้ ต้องมีกระบวนขั้นตอนในรายละเอียดต่างๆเยอะมาก ที่ทั้งนักแสดง และทีมงานต้องเกี่ยวข้อง ทราบมาว่าตั้งแต่เริ่มต้นพิธีบวงสรวงเลย
A. การบวงสรวงสำหรับเตรียมถ่ายฉากนี้ก็มี 3 คน คือผู้พันเบิร์ด ผม และเสธ.ต๊อด (พันเอกวินธัย สุวารี)ครับ โดยมีครูจากกรมศิลปากรมาเป็นผู้ทำพิธีคือครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง กับครูจุลชาติ อรัณยะนาค สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สอนต่อท่ารำบนหลังช้าง ได้ข้อมูลว่าท่ารำเดิมที่บวงสรวงบนหลังช้าง มีในสมัยรัชกาลที่ห้าเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านก็เก็บไว้จากครูอาคม สายาคม(ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ กองการสังคีต กรมศิลปากร) เป็นทางนาฏศิลป์โดยแท้ที่มาต่อให้วันนั้น เป็นท่ารำพื้นฐานที่ไม่ยากมาก บวงสรวงแล้วก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งผมไปขอเรียนกลองชัยมงคลหรือกลองชัย* ที่ทางเหนือ ก็ไปปรึกษาพ่อครูพันหรือพ่อครูมานพ** ว่าทางเหนือนี้เขาใช้ง้าวกันใช่มั้ย เพราะว่าง้าวมาจากจีนก็สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากทางเหนือด้วย ท่านก็บอกว่าใช่ เพราะยุทธหัตถีส่วนใหญ่ใช้ง้าวกัน พ่อขุนสามชนสมัยพระร่วงก็ใช้ง้าวในการชนช้าง เพราะฉะนั้นง้าวนี้ใช้กันมานานแล้ว ผมกลับไปขอให้ท่านสอน แต่ท่านบอกว่าครูสอนให้ไม่ได้เพราะผิดขนบ คนไหนก็ตามที่ไม่ได้รับมอบหมายจะมาจับง้าวไม่ได้ ผมบอกผมได้รับมอบหมายให้เล่นแล้ว งั้นผมขออนุญาต พ่อบอกได้แค่ว่า ไปดูในท่ารำของกลองชัยมงคลนี้แหละ ที่มีฟ้อนสาวบุ้งสาวไหมมีท่าต่างๆ เราก็ไปนั่งดู ตอนบวงสรวงก็มีท่าพวกนี้อยู่แล้ว ส่วนท่าไหว้ครูก็จะมีแบบแทงง้าวไปเรื่อย ชูขึ้นแล้ววาดง้าวลดลง ถ้าของไทยมีแบบนี้ แต่ของพม่าเราไม่มี เราไม่รู้ ต้องมาประยุกต์วิชาเอาเอง การใช้ง้าว ต้องอย่าลืมสังเกตว่าด้านหลังมีสัปคับ ถ้าเงื้อเต็มข้างหลังตายนะครับ แล้วติดด้วยครับ แล้วผมก็คุยกันต่อกับครูของกรมศิลป์ เมื่อได้แนวคิดเรื่องของการบังคับง้าว แล้วก็เรียนท่านมุ้ยประสานกับทางทีมงานทุกคนก็เห็นดีด้วย ผมก็เชิญครูสราชัย*** ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพมากมาเป็นประธาน ช่วยออกแบบท่าทางทั้งหมดกับน้องอีกคนหนึ่ง พี่เอ็ม(สุรศักดิ์ วงษ์ไทย ผู้ช่วยผู้กำกับ) มานั่งดู และบอกว่าท่านอยากให้ออกมาเป็นยังไง เอาข้อมูลมาบอกว่าอยากได้อย่างนี้ๆๆ ต้องการภาพประมาณนี้ๆ ทางครูและทีมงานก็ช่วยกันทำทั้งหมดแล้วไปเสนอท่าน แบบไหนที่เห็นดีเห็นงามด้วย แบบไหนต้องแก้ต้องปรับอะไรก็ว่าไป เบิร์ดก็มาช่วยกันด้วย
(*เป็นกลองเก่าแก่ดั้งเดิมของล้านนาปรากฏชื่อในคัมภีร์ธรรมล้านนา เป็นต้นแบบที่พัฒนาไปสู่กลองปู่จาและกลองสะบัดชัยในปัจจุบัน
** ครูมานพ ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติ ปี2548 สาขาศิลปะการแสดง ศึกษาศิลปะการต่อสู้ ศิลปการแสดง ดนตรี ตลอดจนศิลปะการตีกลองล้านนาชนิดต่าง ๆ จากครูผู้เชี่ยวชาญ จนมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ อาทิ ศิลปะการชกมวย การฟ้อนเจิง ฟ้อนเจิงสาวไหม ฟ้อนหอก ฟ้อนผางประทีป ตลอดจนศิลปะการตีกลอง ปู่จา กลองสะบัดชัยแบบโบราณ กลองมองเซิง กลองปูเจ่ หรือศิลปะการแสดงอื่นๆอีกมากมาย และมุ่งมั่นทำการสอนคนรุ่นใหม่จากรุ่นสู่รุ่นรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาตลอดระยะ เวลาที่ผ่านมาร่วม 50 ปี
***ครูสราชัย ทรัพย์แสนดี เป็นครูสอนกระบี่กระบอง การต่อสู้ฟันดาบ ขวาน เคยได้รางวัลมากมาย ปัจจุบันยังสอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์) ศาลายา)
Q.นี่แค่การเตรียมการ ค้นคว้าข้อมูลศึกษาถึงแค่วิธีการที่จะใช้อาวุธในสมัยนั้นอย่างง้าว
A. ที่เล่ามาเป็นแค่การศึกษา แต่การถ่ายทำจริงยิ่งยากกว่า ง้าวเป็นศาสตร์ที่ใช้ เมื่ออยู่บนหลังช้าง และไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็เงื้อฟันจ้วงได้ เมื่อไปอยู่บนหลังช้างแล้วถึงจะเข้าใจ ผมโชคดีที่รู้จักอาจารย์จักรพันธุ์ (โปษยกฤต) ที่บ้านท่านทำหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย เราก็มีโอกาสเข้าชมซึ่งมีฉากยุทธหัตถีด้วย ได้คุยกับอาจารย์ต๋อง (วัลภิศร์ สดประเสริฐ) ที่ทำหุ่นกับอาจารย์จักรพันธุ์ ก็ถามถึงแนวคิดเพราะท่านมี ท่าสุดท้ายคือสะพายแล่ง(ลักษณะการฟันขาดเฉียงบ่า) คือมีข้อถกเถียงกันเยอะมาก ว่าจะสะพายแล่งอย่างไร หลังจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าพระมาลาเบี่ยงลักษณะแหว่งแบบนี้ คือเบี่ยงขวา เราก็เริ่มจากจุดนั้น อาจารย์จักรพันธุ์ก็บอกว่าเป็นไปได้ว่าฟันลงมาแล้วย้อนเกล็ด..คือชุดเกราะของพระมหาอุปราชาเป็นแบบเกล็ดนกยูง ต้องฟันย้อนขึ้นถึงจะเข้าเกราะได้.. ผมก็ว่ามีเหตุผล แต่เมื่อนึกต่อว่าฟันยังไงเพราะดูจากลักษณะนี้ถ้าฟันย้อนเกล็ดคงติดแน่ ถ้าลงไปต้องติดงาหรือติดงวงช้างสักอย่างหนึ่ง ก็ศึกษาหารูปแบบและวิธีการกันเพิ่ม สุดท้ายสรุปกันว่าน่าจะย้อนเกล็ด..แล้วค่อยฟันลงมา น่าจะเป็นท่านี้..ก็นั่งคิดกันว่าจะเป็นไปได้มั้ย แล้วก็กลับมาเริ่มเลย
Q.ฟังๆดูแล้วไม่ง่ายเลยนี่เพียงแค่นักแสดงกับวิธีการที่จะต้องใช้อาวุธ แต่นี่ยังไม่รวมถึงการที่ต้องทำงานกับสัตว์ใหญ่ๆอย่างช้าง
A.ไม่ง่ายเลยครับ ข้อมูลก็ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อมาปฏิบัติจริงก็มีส่วนที่ต้องปรับอีกเยอะเลย อย่างช้างนี่เป็นปัจจัยสำคัญ ช้างไม่เป็นไปตามที่เราอยากได้ ควาญช้างไม่สามารถทำให้ช้างทำอย่างที่เราคิดได้ ไม่เหมือนม้า ซึ่งเราดึงเองได้ ผมจะบอกว่านี่แหละโชคชะตา หลังจากที่ชนช้างกับเบิร์ดแสดงกันได้พักหนึ่ง ผมนั่งคิดว่าเราพยายามกันหลายเที่ยวมากกับช้างจริงๆ เพื่อจะให้เขากลับหรือให้เข้าจังหวะช่วงที่บุกนั้นถ้าห่างกันเกินไปเราจะฟันกันไม่ถึง เพราะช้างเราบังคับกันไม่ได้ คือให้อยู่ในระยะได้ แต่จะให้เป๊ะเหมือนที่เท้าเราก้าวไม่ได้ นี่คือปัญหาหลัก แล้วปัญหานี้แก้ยากมากจริงๆ แค่แทงไม่ถึงนี่ก็ต้องคัทแล้ว ต้องกลับมาเริ่มใหม่จนกว่าช้างจะเข้าที่ แค่ก้าวหนึ่งของเขาก็ต้องใช้เวลาขยับกันนานพอประมาณเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือทำยังไงให้จังหวะเราลงได้กับท่า แล้วท่าต้องปรับยังไงให้มันได้กับจังหวะช้าง กว่าจะลงตัวกันได้ทั้งหมด จำได้ว่าผมถ่ายทุกวันยกมือ แล้วยกมืออีกขอแรงให้ลูก..ขอแรงให้ลูกอีกที ตอนนั้นคือมันมองอะไรก็สีเพี้ยนไปหมดเพราะเหนื่อยมาก แล้วเหงื่อเข้าตาด้วย นั่นคือหลักๆ 2 คนเท่านั้น กองทัพไม่เกี่ยว ทัพเดินหน้าปะทะกันยังไม่เกี่ยว เมื่อเราทำงานกับช้างเราถึงได้รู้ว่า ช้างของพระองค์ท่านที่เสียหลักเพลี่ยงพล้ำกับจังหวะที่เหยียบยันต้นพุทราเล็กๆนั้น ทำให้สถานะของประเทศชาติเปลี่ยนได้อย่างไร…ถึงบอกว่าชะตาฟ้าลิขิต องค์ประกอบทุกอย่างส่งให้ท่านได้รับชัยชนะ ส่งให้เราเป็นไทจริงๆ ผมขนลุกนะ การทำงานในฉากยุทธหัตถีต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก และหนักมากๆ นอกจากท่านมุ้ยให้มาแล้ว เราก็ต้องไปหาเองด้วยเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ ความคล่องตัวทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับการทำการบ้านของเรา ไปฝึกฝนไปหาข้อมูลจากครูบาอาจารย์หลายๆคนจากหลายๆที่มาประยุกต์ผสมผสานกัน การทรงตัวอยู่บนคอช้างไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าขี่ม้าเรามีโกลนเหยียบ ช้างก็มีโกลนคล้ายๆกัน ทำเป็นถุงผ้า ถ้าสังเกตให้ดีในเรื่องพระมหาอุปราช พระนเรศจะมีคล้ายเหมือนโกลนม้าสำหรับเหยียบ และสามารถยืนที่คอช้างได้จริงๆเหมือนกัน ซึ่งท่านมุ้ยท่านได้researchไว้แล้ว ก็ทำขึ้นมาเป็นเทคนิคของการยืนบนคอช้าง ซึ่งปกติถ้าเราไปยืนบนหลังช้างหรือคอช้างที่ไหนก็ตามที่เขาให้ขี่ช้างเราจะไม่เห็นของสิ่งนี้ เพราะควาญช้างทั่วไปเข้าไม่ต้องใช้ แต่ในศึกนี้เราใช้เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่อยากให้สังเกตจริงๆ สามารถยืนแล้วเงื้อง้าวไปข้างหน้าในการฟันได้
Q: รวมไปถึงพวกเครื่องทรงช้างวิจิตรมาก
A: เครื่องทรงช้างนี้วิจิตรมากครับ แค่ชุดเกราะนกยูงของผมนี่ก็ใช้เวลานานกว่าจะเย็บทีละแผ่นให้เป็นชุด ช้างก็เช่นกัน ต้องเย็บทีละแผ่น ทุกครั้งที่เข้าฉากก็ร่วงทีละชิ้น ต้องเอาไปเย็บซ่อมอีก เพราะบางทีมันโดนอาวุธโดนเกี่ยวจริงๆ เสียงที่เกิดขึ้นจากการกระทบจริง อาวุธก็หักได้เหมือนกัน ถึงเวลาต้องให้ช้างพักต้องมีเวลาไปกินข้าวไปอาบน้ำให้หายหงุดหงิด เพราะโอกาสที่เราจะพลาดกับช้างมีเยอะมากนะครับ เขาเป็นสัตว์ที่แสนรู้ ฉลาด เราจับเขาๆรู้แล้วว่าเรากลัวหรือไม่กลัวเขา อันนี้คุณหมอบอกไว้ว่าเรามีชีพจรที่มือ เมื่อเราจับหูช้างถ้าเรากลัวเขาเขาจะท้าทายได้เลย
Q .ประสบการณ์การทำงานกับช้างที่ต้องเกี่ยวพันตลอด
A. คือถ้าใครไม่ทราบก็จะ ช้างน่ารักตลอดเวลา ก็คงใช่ครับถ้าเขาอารมณ์ดี และอยู่ใกล้ควาญที่คุมเขาได้จริงๆ แต่ถ้าเขาอารมณ์ไม่ดีกรุณาถอยออกให้ห่างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำไมช้างถึงกระทืบคนตาย ตัวใหญ่จริงแต่เขาเหยียบแม้กระทั่งไม้แห้งๆได้เงียบมาก เขามีวิธีการระวังตัวดีมาก การเคลื่อนไหวของเขาก็เร็วมากเช่นเดียวกัน วันหนึ่งผมจะขึ้นคอช้างเพื่อซ้อมก่อน มีเด็กกลุ่มหนึ่งประมาณ 5 คน อายุประมาณ 6-10 ขวบ เป็นลูกเจ้าหน้าที่แถวค่ายสุรสีห์ละครับ คนหนึ่งพูดว่า “เฮ้ย! ช้างโว้ย” ช้างอยู่จากผมห่างออกไประยะไม่ถึงสิบเมตร สักพักหนึ่งเขาก็ถอยหลังไปไกลพอสมควร ควาญก็เดินไปนั่งพัก เด็กกลุ่มนี้ปีนขึ้นต้นไม้แล้วก็เเลบลิ้นยักคิ้วหลิ่วตา อีกคนขึ้นมาเรียกไอ้ช้างโว้ย..สารพัดสารเพ ผมหันไปมองอีกทีไม่อยากเชื่อภาพที่เห็นเลย จากที่ห่างกันสิบกว่าเมตร ช้างพุ่งเข้ามาถึงหน้าเด็กเลยครับ งวงเขาอยู่ตรงหัวแล้ว พร้อมที่จะทำร้ายได้ทันทีแต่เขาไม่ทำนะ เขายกงวงขึ้นมาแล้วก็มองแล้วก็ถอยหลังส่ายงวงไปมา แล้วเขาก็ถอยหลังกลับ ช้างมีกล้ามเนื้อเป็นหมื่นมัดตรงงวง แล้วมีพยานยืนยันหลักฐานได้ว่า เขาฟาดคนทีเดียวตายแน่นอน
Q: คุณตั๊กมีตกช้างบ้างไหม
A: เคยช้างที่ผมขี่ทุกเชือกค่อนข้างมารยาทดีครับ ท่านมุ้ยก็เป็นห่วงนะ บางทีร้อนจัดๆช้างก็จะหงุดหงิดมาก แล้วมีประวัติว่า เคยเขวี้ยงควาญลงจากคอ คงเป็นควาญคนละคนกัน แล้วมาขี่แทน เท่าที่ถามผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่าเขาแค่เอางวงขึ้นไปแล้วคว้าลงมา แล้วก็ไล่ตามไปกระทืบ แต่โชคดีที่ควาญคนนั้นลงน้ำไปก่อนแล้วโผล่อีกฝั่งหนึ่ง คือรู้ทันกันนะ แต่ฟังแล้วก็กดดันเลย(หัวเราะ) เวลาทำงานเรารู้ว่าเขาร้อน เราก็ร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อเราสามารถแบ่งปันความเย็นให้เขาได้ก็จะทำ เช่นเมื่อคนส่งน้ำโยนขึ้นมาเป็นแก้วเล็กๆ แล้วผมก็เจาะรูหรือทำให้ไหลตรงหัวเขาบ้างแล้วก็ลูบๆก็ต้องชะโลมบ้าง ใช้เทคนิคนิดๆหน่อยๆ อะไรก็ได้ให้เขาเย็น หรือไม่ก็แตะเบาๆให้เขารู้ว่าร้อนด้วยกันนะ จากประสบการณ์จากระยะเวลาที่เราทำงานมายาวนาน ส่วนใหญ่ก็ต้องมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆ เวลาเราทำงาน กับสัตว์ก็ทำให้รู้ว่าเขารู้เรื่อง เข้าใจเราได้ อย่างในเรื่องAvatar ม้าสามารถเชื่อมจิตใจกับคนได้จริงๆ ตอนไปดูยังคิดเลยว่าคนทำภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องรู้จักม้า ต้องเคยขี่ม้าเพราะถ้าเรายิ่งคุ้นเคยกับเขา เขาจะสามารถเข้าใจจิตใจเราได้ดีมากจนเกือบจะเป็นคนๆเดียวกันที่พูดกันรู้เรื่องทุกวันได้เลย แทบจะไม่ได้สั่งอะไรเขาก็ไปให้แล้ว อย่างตอนช้างกับม้าเจอกันผมอยู่บนหลังม้า เมื่อเขาเจอช้างก็ไม่แสดงอาการหวาดกลัวอะไรเลยเพราะเรานิ่ง ในขณะที่ม้าคนอื่นไปแล้ว..เขานิ่งตามเราได้จริงๆด้วย ธรรมชาติของสัตว์เขารู้และรู้สึกได้ครับ
Q.กว่าจะเกิดเป็นภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ให้เราได้ชมกันสำหรับ ฉากยุทธหัตถีต้องผ่านขั้นตอนในการถ่ายทำกันอีกนับไม่ถ้วน รวมไปถึงขั้นตอนทางด้านเทคนิคหลังการถ่ายทำ รวมไปถึงงานทางคอมพิวเตอร์กราฟฟิคต่างๆ
A. การทำ CG เป็นส่วนที่ผมแตะต้องไม่ถึงครับ แต่เชื่อว่ายากมากแน่ๆ เพราะลำพังแค่ช้างนี่ก็ไม่ได้มีแต่ช้างจริงในตอนถ่ายทำเท่านั้น ยังต้องมีช้าง CG อีกเพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ แต่ต้องใช้คนอีกเท่าไหร่ที่จะขยับกันเป็นหุ่นเป็น ครั้งแรกที่ผมเห็นเหมือนช้างหุ่นเชิด แล้วก็ขยับแล้วก็อยู่บนช้างแล้วก็สู้กันแต่อันนี้ตัวเราค่อนข้างขยับได้ถนัด แต่ข้างล่างเหนื่อยมาก หรือยังต้องมีถ่ายฉากทำสงครามกองทัพทหารทั้งสองฝั่งที่บุกปะทะกันอีกเอา มานั่งคุยกันคัท..เทค…เพราะข้างหลังไม่สมบูรณ์ …ย้อนกลับไปทั้งหมดเป็นร้อยเป็นพันคน แค่หนึ่งร้อยคนถอยหลังกลับไปตั้งฉากใหม่นะใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าพลาดขึ้นมาแค่คนเดียว..เทค
Q.ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังมีหลายๆฉากสำคัญที่ทั้งยิ่งใหญ่ในแง่งานสร้าง และการถ่ายทำรวมไปถึงมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้ฉากยุทธหัตถีเช่นกัน
A. ศึกใหญ่ๆที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ก็มีศึกที่บุเรงนองยกมา และที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือศึกนันทบุเรง ที่เกิดขึ้นก่อนถึงศึกยุทธหัตถี โดยศึกนันทบุเรงลูกของบุเรงนองนี้ พม่ายกทัพมาเป็นเรือนแสนเช่นเดียวกัน มาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายเดือน ทางเรือก็มีด้วยนะครับ แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องยกทัพกลับ นับเป็นฉากใหญ่อีกฉากหนึ่งในภาคนี้ด้วย เบื้องหลังการถ่ายทำก็ต้องบอกว่าเซ็ทกันหฤโหดพอสมควรทั้งควัน และไฟเพราะนันทบุเรงโดนไฟลวก ซึ่งเป็นจุดพลิกอีกฉากหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตของมหาอุปราชต้องเปลี่ยน มันเป็นฉากรบที่ฝั่งกรุงศรียิงปืนใหญ่เข้ามา โดนเต็มๆเลย นันทบุเรง-พระบิดาต้องพระแสงปืนใหญ่ ฉากนี้ร้อนจริงๆนะ ตอนที่วิ่งเข้าไปอุ้มพระบิดาบนเชิงเทิน ก็ทุลักทุเลกันแล้วยังต้องวิ่งผ่านไฟตามเต็นท์ต่างๆในค่ายอีก อันนั้นร้อนจริงนะครับ มีบางสะเก็ดไฟกระเด็นมาโดนพวกเราจริงๆด้วย อย่างหนึ่ง-ชลัฏ ที่วิ่งตามหลังมาเสื้อไหม้เลย ต้องไปดับกันนอกฉาก..สุดยอด เขม่าเต็มๆ ทั้งไฟปะทุ ทั้งอากาศร้อนสุดๆ แค่วิ่งผ่านเฉยๆก็ระอุมากแล้ว ยังต้องวิ่งโดยมีพระบิดาถูกห่ออยู่ในเสื่อ ที่เราอุ้มกันไว้หกคน ก็วิ่งพร้อมกันสุดชีวิตได้จริงๆ..ทั้งความร้อนทั้งกลิ่นควันไม่ธรรมดาเลย..กลับบ้านล้างเขม่าออกจมูกเป็นก้อนๆเป็นแผ่นๆ
Q.เห็นว่าต้องมีถ่ายทำฉากที่คุณตั๊กต้องยก คุณต้น จักรกฤษณ์ที่ถูกไม้ทับในกองเพลิงด้วย
A รู้สึกว่ามันก็คือเซ็ทฉากขึ้นมาก็ยังไม่หนักเท่าไหร่ แต่พี่ต้น-จักรกฤษณ์ที่เป็นพระบิดานี่หนักแน่ ที่สำคัญคือฉากนี้เราต้องมีการแสดงทั้งท่าทางและความรู้สึกทางสีหน้าอารมณ์ทุกอย่างต้องได้ด้วย การเซ็ทฉากทำเสมือนจริง ไฟไหม้จริง ฉากพังจริง ไฟไหม้ไม่เหลือจริงๆกล้องเสียไปหนึ่งตัวครับ ผมเชื่อว่าท่านคงไม่ได้ตั้งใจหรอก..แต่มันเกิดขึ้นแล้ว
Q. ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นการเนรมิตท้องพระโรงในการว่าราชการของทางฝั่งหงสาที่ว่ากันว่าเต็มไปด้วยความวิจิตรอลังการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฉากรบฉากสงครามเลยทีเดียว
A. ฉากนี้ถ่ายทำในท้องพระโรงจำลอง โดยท่านจำลองได้เหมือนมาก ย่อสเกลมาได้สวยมาก..เป็นงานฝีมือจริงๆ.. ต้องชมฝ่ายศิลป์สุดยอด..เป็นงานวิจิตรศิลป์-ประณีตศิลป์ เหมือนนั่งดูโขน ฉากสำคัญนี้เป็นฉากอารมณ์ ที่สะท้อนแง่มุมของความสัมพันธ์ ระหว่างพ่อกับลูก..นันทบุเรงกับพระมหาอุปราชา แม่ทัพทั้งหมดทุกคนมาเข้าเฝ้านันทบุเร งเมื่อกลับจากศึกที่พระเจ้านันทบุเรงโดนไฟลวกทั้งตัว พันแผลเป็นมัมมี่กันเลยทีเดียว….พี่ต้น-จักรกฤษณ์ต้องแสดงความเจ็บปวด คลุ้มคลั่งเสียสติทุกอย่างอารมณ์ทุกอย่างล้นหลาม แล้วสุดท้ายมาประดังที่ลูกซึ่งต้องมารองรับอารมณ์ของพ่อ โดนต่อว่าปรามาสดูถูกเหยียดยาม แต่กระนั้นอุปราชก็ยังรักพ่อ และเคารพยิ่ง บุคคลที่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงหัวใจของนักรบ..พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย เพื่อพระบิดาจะได้เข้าใจได้ทรงเห็น มหาอุปราชาก็ยังแสดงความรักต่อพระบิดาได้อย่างหนักแน่น โดยการก้มลงไปเอาหน้าแนบพระบาทให้รู้ว่านี้คือเหนือหัวของเขา ด้วยน้ำตาที่นองหน้า ฉากนี้มังสามกียดต้องอุ้มนันทบุเรงจากพื้นไว้ในอ้อมกอ ดด้วยความเศร้าสลดใจ ท้อแท้ เสียใจ เพื่อขึ้นแท่นบรรทม แต่กระนั้นก็ยังคงรักพระบิดาอย่างเต็มเปี่ยม เป็นความเจ็บปวดกับความขัดแย้งในท่าทีเป็นอย่างมาก ฉากนี้เป็น long take นะครับตั้งแต่อุ้มไปจนถึงแท่นบรรทม ไม่มีตัดไม่มีคัท แปลกที่ว่าตอนที่ผมแสดงนั้นไม่รู้สึกว่าพี่ต้นหนักเลยแม้แต่น้อยครับ ความรู้สึกที่ท่วมท้นอยู่ตอนนั้นมันมันสามารถมีอยู่เหนือร่างกายจริงๆ
Q.แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆในการแสดงของคุณตั๊กในฉากนี้เห็นคุณต้น จักรกฤษณ์บอกว่าพอจบเทกท่านมุ้ย บอกให้ทุกคนปรบมือเลย
A. ท่านให้เกียรติมากครับ พอจบปุ๊บท่านสั่งให้ทุกคนปรบมือ ลั่นอยู่ตรงท้องพระโรงนั่นเลย เราก็ดีใจนะ มันผ่านมาได้ด้วยความสวยงาม และอารมณ์ที่เต็มท่วมท้นไปหมดเลย..รู้สึกดีมากครับ
Q.เป็นโปรเจ็คต์ภาพยนตร์ที่กินระยะเวลายาวนานถึง10ปี “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”ถือได้ว่ามีความสำคัญกับชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหนอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา
A: เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมได้เจอกับคนเยอะแยะที่ดี..เป็นความผูกพันที่ดี กับคนทำงานหลายๆคนที่มีจิตใจที่ดีทุ่มเทให้กับงาน บางคนอาจจะเหนื่อย แต่เขาก็ไม่ท้อ หรือถอดใจ เพราะมันนานมาก คือมีทั้งสุขและทุกข์ เหมือนผู้พันเบิร์ดกับผมก็เข้าใจกัน คืออย่างที่เห็นว่าบางคนแต่งงานกันที่นี่ บางคนรักกันที่นี่ มีลูกด้วยกันที่นี่ หรือบางคนก็เจ็บป่วยจนล้มหายตายจากไปก็มี เป็นความเศร้าที่เขาจากไปแต่ว่ายังเป็นความทรงจำที่ดี ที่เราเคยเห็นเขาทำงานกับเรา และเห็นเขาทุ่มเทกับงานที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เราจะเก็บจารึกไว้ว่านี่คือหนังประวัติศาสตร์ เขาอยู่ในนั้นด้วยนะ อย่างเสธ.ต้นนี่เขาอยู่ตรงนั้น เขาทุ่มเทกับงานแค่ไหน
Q.ความท้าทายในฐานะนักแสดงตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คิดว่าจะมีโปรเจ็คต์แห่งประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้อีกมั้ย
A: แค่เริ่มคิดผมเชื่อว่าหลายๆคนก็ไม่เอาแล้วครับ โปรดักชั่นใหญ่ขนาดนี้ ความคิดอาจจะคิดได้แต่จะไปเอากำลังมาจากไหน ถ้าบุคคลนั้นไม่มีบารมีพอที่จะสามารถรวบรวมคน เพื่อนำความคิดต่างๆมาถ่ายทอดให้เกิดเป็นทีมงานที่พร้อมจะเข้ามาทำงาน มันต้องใช้หลายภาคส่วนมากนะ เอาแค่ research อย่างเดียวนี่ผมก็ว่าไม่น้อยแล้ว เท่าที่ผมทราบมาท่านทำ researchไม่ต่ำกว่าเจ็ดปีนะ ก่อนจะเป็นสุริโยไทเรื่อยมาถึงพระนเรศวรฯ ต้องทุ่มเทขนาดไหน.ยังไม่พูดถึงขั้น Pre-Production ต่อจากจุดเริ่มต้นอีก researchได้แล้วต้องสร้างอะไรบ้าง ต้องdesignอะไรบ้างจากหลักฐานทางประวิติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้ ต้องอ้างอิงและหาข้อมูลเพื่อโต้แย้งอย่างไร แล้วถึงมาสรุปเป็นแนวทางที่จะทำ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วนะแต่ท่านไม่เห็นเหนื่อยเลย
Q: ความรู้สึกของคุณตั๊กเองกับการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์เรื่องนี้
A. แม้เราเป็นเมล็ดถั่วเล็กๆที่เป็นตัวขับเคลื่อนในกลไกของภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้ ผมก็ภูมิใจที่ได้สัมผัส อย่างที่บอกว่าผมจุดธูปขอบทอะไรก็ได้จริงๆ แค่ขอเข้าไปเล่นสักบทหนึ่ง ตัวละครหนึ่งแล้วก็กราบขอพรท่านเท่านี้แหละครับ นั่นคือสิ่งที่ผมขอ ผมไม่คาดฝันว่าจะได้เป็นตัวเด่นๆหรือใหญ่ๆอะไรเลย และเราก็รู้สึกว่าถ้าได้เล่นก็ภูมิใจแล้ว ผมพร้อมจะภูมิใจว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในฟันเฟือง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาพยนตร์แห่งประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรื่องนี้สำเร็จ
Q.ทำไม “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ถึงเป็นภาพยนตร์ที่ “ต้องดู”
A: ผมเชื่อว่าคุณจะไม่ได้เห็นการทำงานที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ในอีก 10-20-30 ปี หรือในช่วงชีวิตของผม สิ่งที่คุณควรจะดู คือสิ่งที่คุณอาจจะอยากเห็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์นั้นคือหลักใหญ่ เรื่องราวแห่งวีรกรรมที่บรรพบุรุษไทยก่อนหน้าคุณท่านสร้างไว้ให้ เรื่องนี้ถ่ายทอดอะไร มาจากการค้นคว้าที่เราเห็นจากท่าน..จากสิ่งที่นักวิชาการเห็น..มาถ่ายทอดกัน ปรึกษาถกเถียงกัน แล้วนำมาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ประวัติศาสตร์มีอยู่แล้วสิ่งที่แน่ๆคือถ้าท่านเป็นคนไทย เรื่องนี้ตอบคำถามได้ว่าแผ่นดินถิ่นเกิดของท่านเป็นชาติไทยได้มาได้ยังไง แล้วอีกอย่างหนึ่งคือโปรดักชั่นใหญ่ๆแบบนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีนักแสดงและทีมงานที่มีคุณภาพมารวมกันได้มากขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศิลป์ ฝ่ายเสียง ฝ่ายแสง แม้กระทั่งสตั๊นท์ และมีทหารมาร่วมอีกหลายหมื่น ไม่รู้กี่ผลัดต่อกี่ผลัดในสิบปีที่ถ่ายทำกัน นักแสดงกิตติมศักดิ์กี่ท่านได้มาเข้าร่วม ที่บอกว่าล้มหายตายจากไปแล้วก็มี ยังรำลึกถึงพวกท่านเหล่านั้นเสมอ และรุ่นใหม่ที่ตามเข้ามาอีก ซึ่งอนาคตก็จะเป็นประวัติศาสตร์ของพวกเขาด้วย ยากมากที่จะกลับมาทำแบบนี้ได้อีกครับ
บันทึกภาพ: สหมงคลฟิล์ม