ผู้หญิงเราในแต่ละช่วงวัยต่างก็มีสรีระร่างกายที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจาก วัยรุ่น สู่วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา ส่งผลให้การดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพสตรีในแต่ละช่วงวัย จึงจัดเสวนาหัวข้อ “ภัยร้ายในผู้หญิงทุกช่วงวัย” โดย พญ.กฤษณี เทพประเทืองทิพย์ สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี โดยมีสาว 3 วัย นำโดย ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พิมพ์อัปสร เทียมเศวต และ ซาร่า เล็กจ์ มาแชร์ประสบการณ์ปัญหาด้านสุขภาพ ในงานเปิดตัว “Vibhavadi Healthy Women” ณ ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 โรงพยาบาลวิภาวดี เมื่อเร็วๆ นี้
พญ.กฤษณี เทพประเทืองทิพย์ สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า ผู้หญิงในทุกช่วงวัยต่างมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่แตกต่างกันไป และยังมีปัญหาที่แตกต่างกันด้วย อย่างผู้หญิงในช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี เริ่มมีการพัฒนาของฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ แนะนำให้ดูแลสุขภาพร่างกายทั่วไปตามปกติ สังเกตอาการผิดปกติที่อาจพบร่วมกับการมีประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติไม่สม่ำเสมอที่เกิดจากฮอร์โมนผิดปกติ บางคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสิวและผิวพรรณ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมน อาจดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารมัน ควบคุมน้ำหนัก แต่ถ้าได้ทำแล้วอาการปวดประจำเดือนผิดปกติ ปัญหาสิวและผิวพรรณยังมี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสม ในสาวๆ ที่ยังโสดแนะนำปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV) ไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
สำหรับผู้หญิงในช่วงอายุระหว่าง 30-45 ปี วัยนี้เรียกว่าวัยเจริญพันธุ์ บางคนแต่งงานมีครอบครัว แนะนำว่าควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและฉีดวัคซีนป้องกันในคนที่ยังไม่ได้ฉีด ควรพบแพทย์ตรวจภายในปีละครั้ง เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติ เนื้องอก ซีส ใครที่วางแผนจะมีบุตรแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เรื่องการตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร หรือใครที่ยังไม่พร้อมก็ควรปรึกษาแพทย์เรื่องวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม วัยนี้อาจเกิดโรคความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจิญผิดที่ เนื้องอกมดลูก และให้เริ่มสังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ ปวดประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดหน่วงท้องน้อย หรือคลำได้ก้อน แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์
ส่วนผู้หญิงในอายุ 45 ปีขึ้นไป เริ่มก้าวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ให้เริ่มสังเกตอาการของการหมดประจำเดือน ปริมาณน้อยลง จำนวนวันน้อยลง ระยะห่างมากขึ้น ถ้าประจำเดือนมามาก มานานหรือออกกระปริดกระปรอย แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้แนะนำให้ดูแลสุขภาพมากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารแคลเซียมสูง และอาหารที่มีฮอร์โมนตามธรรมชาติเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนและลดอาการวัยทอง บางคนที่มีอาการวัยทองมากมีผลกับชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม
ด้าน ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ตัวแทนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนกล่าวว่า “โชคดีที่ตัวเองไม่มีปัญหาในเรื่องวัยทองเหมือนกับคนอื่นๆ เพราะดูแลสุขภาพมาโดยตลอด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพบแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพเป็นประจำ ส่วน พิมพ์อัปสร เทียมเศวต ดีเจสาวตัวแทนวัยทำงาน บอกว่า “เราอยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 30-45 ปี จะมีปัญหาเรื่องการพักผ่อน ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงบ้างทางด้านฮอร์โมน เช่น ประจำเดือนมีมากบ้าง น้อยมาก แต่ก็พยายามที่จะดูแลตัวเอง ออกกำลังกายบ้าง รับประทานอาหารเสริมบ้าง” สุดท้ายตัวแทนสาววัยรุ่น ซาร่าห์ เล็กจ์ บอกว่า “ปกติเป็นคนที่ปวดท้องเวลามีประจำเดือนอยู่แล้ว แต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปวดท้องทุกครั้งและปวดมากกว่าเดิม จนต้องรับประทานยาแก้ปวด เลยไปพบแพทย์ ผลปรากฏว่าเป็นช็อกโกแลตซีส แพทย์ก็แนะนำให้ผ่าเลย ตอนนี้ก็รอวันอยู่ค่ะ เลยอยากแนะนำสาวๆ ว่าหากมีอาการผิดปกติในร่างกาย อย่ารอให้เป็นมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาทางรักษาต่อไป”
บันทึกภาพ: โพลีพลัส พีอาร์