เล่าเรื่องราวผ่านการสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดสะเทือนขวัญ
ที่ได้นำพานักจิตวิทยา, สาวนิติวิทยาศาสตร์, หนุ่มไฮโซ และนักศึกษาสาว
เข้ามาพัวพันและถลำลึกถึงความบิดเพี้ยนทางจิตใจ…อย่างคาดไม่ถึง
ผลงานกำกับเรื่องที่ 7 ของผู้กำกับฝีมือดี
“นนทรีย์ นิมิบุตร”
ครบรอบ 15 ปี ในการนั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคุณภาพระดับนานาชาติ
พร้อมแจ้งเกิดทีมนักแสดงหน้าใหม่กับบทบาทสุดเข้มข้น
“แบงค์-อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์” (พระเอก MV และโฆษณา)
“ป๊อปปี้-บุญยิสา จันทราราชัย” (รองอันดับ 1 มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2012)
“แม็กกี้-อาภา ภาวิไล” (นักแสดงสาวดาวรุ่ง)
และ “บีม-ศรัณยู ประชากริช” (นักแสดง, พิธีกร, ดีเจ)
พร้อมด้วยนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ “สุเชาว์ พงษ์วิไล” และ “ชนานา นุตาคม”
17 พฤษภาคม ในโรงภาพยนตร์
เปิดปม…
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อความผิดพลาดของใครบางคนในอดีต
คือชนวนเหตุที่ดึงอีกหลายชีวิตเข้ามาพัวพันกันถึง…ตาย!!!
คนที่คุณคิดว่าเป็นเหยื่อ อาจจะเป็นผู้ล่า
คนที่คุณคิดว่าเป็นผู้ล่า อาจตกเป็นเหยื่อ…ไม่รู้ตัว
คนที่คุณคิดว่าเป็นผู้ช่วยเหลือ อาจกลับกลายเป็นผู้ฆ่า…เสียเอง
เรื่องราวของ “คน” เดินดิน บน “โลก” บิดเบือน กับ “จิต” ที่บิดเพี้ยน
ที่จะทำให้คุณค้นพบตัวตนที่แท้จริง
ท่ามกลางความวุ่นวายแห่งมหานครกรุงเทพ เหตุฆาตกรรมซาดิสต์สุดสะเทือนขวัญได้เกิดขึ้นในวันอันร้อนระอุใจกลางเมือง ศพชายนิรนามถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมโดยไม่ทราบสาเหตุ…กะโหลกศีรษะถูกทุบจนแหลกละเอียด
“เขื่อน” (อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญการอ่านจิตอาชญากร ได้เข้ามาช่วยไขปริศนาคดีฆาตกรรมนี้ร่วมกับ “เทียน” (บุญยิสา จันทราราชัย) นักนิติวิทยาศาสตร์สาวผู้มีปมบางอย่างฝังลึกในใจ ทั้งคู่สืบค้นทุกเบาะแสเพื่อให้ได้เงื่อนงำของคดีจนต้องก้าวล่วงเข้าไปในปมชีวิตเบื้องลึกของกันและกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ขณะที่การสืบสวนกำลังดำเนินไปอย่างเร่งรีบ แต่ก็มีคนตายเพิ่มขึ้นในสภาพศพที่ถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยมไม่แพ้กัน และครั้งนี้มีเงื่อนงำบางอย่างที่ชี้ให้ “คีย์” (ศรัณยู ประชากริช) หนุ่มไฮโซเพื่อนเก่าของเขื่อนตกเป็นผู้ต้องสงสัย นั่นทำให้เขื่อนต้องกลับมาเผชิญหน้ากับคีย์อีกครั้งด้วยความจำใจ หลังจากที่เขาพยายามหลบหน้ามาโดยตลอด หรือจะมีอะไรบางอย่างแอบแฝงอยู่เบื้องหลังความเป็นเพื่อนของทั้งคู่ที่อาจเชื่อมโยงกับคดีนี้
ก่อนที่จิกซอว์ภาพฆาตกรในหัวของเขื่อนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ กลับมีเหตุไม่คาดฝันทำให้เขื่อนได้พบกับ “กวาง” (อาภา ภาวิไล) นักศึกษาสาวที่เขาเคยให้ความช่วยเหลือจากเหตุฆาตกรรมในครอบครัวเมื่อ 10 ปีก่อน การพบกันของทั้งคู่ได้ปลุกอดีตอันเลวร้ายให้ย้อนกลับมาตามหลอกหลอนทั้งเขาและเธออีกครั้ง และยิ่งคดีถูกสืบลงลึกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เงื่อนงำที่ดูเหมือนจะดึงทั้งสี่คนให้ถลำลึกกับความบิดเพี้ยนทางจิตใจมากขึ้นเท่านั้น หรือคำตอบของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดซาดิสต์นี้จะนำพาทั้งสี่คนให้เข้าใกล้ความตาย…อย่างคาดไม่ถึง ใครกันแน่คือคนที่กุมจิกซอว์ตัวสุดท้ายในเกมกลมรณะที่ฆาตกรผูกไว้อย่างสุดพิสดารนี้ เมื่อความตายมาประชิดตัว จงอย่าไว้ใจใคร…แม้แต่ใจตัวเอง!
เบื้องหลัง “คน-โลก-จิต”
จากความสำเร็จอย่างพลิกวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยผลงานกำกับเรื่องแรกแนวแอ็คชั่น-ดราม่าเรื่อง “2499 อันธพาลครองเมือง” (2540) ที่กวาดรายได้ไปถึง 75 ล้านบาท และสั่นสะเทือนแผ่นฟิล์มอีกครั้งด้วยภาพยนตร์ดราม่าสยองขวัญเรื่อง “นางนาก” (2542) ที่ถล่มรายได้ไปถึง 150 ล้านบาทในยุคซบเซาของภาพยนตร์ไทย ทำให้สายตาทุกคู่ทั้งในและนอกวงการต่างต้องหันมาจับจ้องที่ผู้กำกับหนุ่มหน้าใหม่นาม “นนทรีย์ นิมิบุตร” คนนี้ ที่กล่าวได้ว่า เขาเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูวงการภาพยนตร์ไทย หลังจากตกต่ำมานานเป็น 10 ปี (2530-2540) และเป็นผู้ที่นำพาภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง
หลังจากนั้น ในทุกๆ ผลงานกำกับของเขา ไม่ว่าจะเป็น “จัน ดารา” (2544), “อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต ตอน The Wheel” (2545), “โอเคเบตง” (2546) และ “ปืนใหญ่จอมสลัด” (2551) ต่างก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความแปลกใหม่ของเนื้อหนัง ความพิถีพิถันในงานสร้าง และการแสดงในระดับมืออาชีพ
ล่าสุด ในวาระครบรอบ 15 ปีกับการนั่งแท่นผู้กำกับฝีมือดีที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นนทรีย์กลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายจากการกำกับภาพยนตร์ไทยไปเกือบ 5 ปี ด้วยผลงานการกำกับเรื่องที่ 7 ที่สร้างจากบทภาพยนตร์ชนะเลิศโครงการ Thailand Script Project 2010 (โดย ภัทรา พิทักษานนท์กุล) สู่ภาพยนตร์เขย่าจิตสุดระทึกเรื่อง “คน-โลก-จิต” (2555) ภาพยนตร์ที่จะทำให้คุณไม่กล้าไว้ใจใคร…แม้แต่ใจตัวเอง โดยเล่าเรื่องราวผ่านการสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดซาดิสต์สะเทือนขวัญที่ได้นำพานักจิตวิทยา, สาวนิติวิทยาศาสตร์, หนุ่มไฮโซ และนักศึกษาสาว เข้ามาพัวพันถึงสภาพทางจิตอันบิดเบี้ยวอย่างคาดไม่ถึง
***จุดเริ่มต้น…เข้มข้นด้วยเนื้องานคุณภาพแหวกแนว***
“เรื่องนี้สร้างมาจากบทภาพยนตร์ที่ชนะเลิศโครงการ Thailand Script Project ครั้งที่ 2 ที่ผมทำร่วมกับคุณเป็นเอก (รัตนเรือง) ครับ ซึ่งผมเองได้อ่านแล้วก็เห็นว่ามันมีความน่าสนใจมาก บวกกับข่าวสารที่ออกมาในปัจจุบันนี้มันทำให้เห็นว่าสังคมเรามีสภาพจิตใจที่บิดเบี้ยวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการแสดงพฤติกรรมที่แปลกประหลาดคาดไม่ถึงออกมามากมาย ทำให้ผมรู้สึกว่าควรจะบอกเล่าให้ฟังว่าคนเรามีความผิดเพี้ยนไปมากแค่ไหนแล้ว ไอเดียมันเริ่มมาจากครอบครัว จนถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกชนชั้น โดยเล่าเรื่องราวผ่านเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ที่นำพาตัวละครมาเจอกัน แล้วทำให้ทุกคนได้ค้นพบตัวเองว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตที่เราดำเนินอยู่นี้ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เล่าง่ายๆ เลยคือ มันเกิดเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญขึ้นในกรุงเทพฯ นี่นะฮะ ก็เป็นเหมือนข่าวที่เราเคยดู เพียงแต่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันนำพาตัวละคร 4 ตัว เข้ามาเจอกัน แล้วต่างคนก็มีปมที่บิดเบี้ยวทางใจ เนื่องจากทางครอบครัวบ้าง สภาวะทางสังคมบ้าง ทางการงานบ้าง ที่มันเกิดความเครียด ความเพี้ยน อาจจะเห็นภาพหลอน ซึ่งต่างๆ เหล่านี้เราได้มาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งนั้น 4 คนนี้ก็มารวมตัวกันแล้วพยายามช่วยกันหาทางแก้ไขสภาวะการของแต่ละคนๆ ให้มันคลี่คลายออกไปทั้งทางดีและร้าย บางคนมันไม่แน่นอน จากสถิติจากข้อมูลจากบันทึกคดีที่เคยมี มันอาจจะแก้ไขไปในทางที่ดีได้ หรือบางรายยิ่งแก้ไขก็ยิ่งอาจถลำลึกลงไปอีกได้ เรื่องนี้ก็จะบอกทั้งสองทางครับ”
***ทีมนักแสดงสดใหม่ถ่ายทอดบทบาทน่าเชื่อถือ นักแสดงมืออาชีพเพิ่มสีสันจัดจ้าน***
ด้วยความแหวกแนวของเนื้อหาเรื่องราวซึ่งต้องอาศัยการแสดงที่ไม่ทำให้ติดภาพเก่าของนักแสดงนั้นๆ จึงทำให้ผู้กำกับตัดสินใจปั้นนักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมดเพื่อความน่าเชื่อถือของบทบาทและความสมจริงของเรื่องราวนี้ ไม่ว่าจะเป็น “แบงค์-อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์”, “ป๊อปปี้-บุญยิสา จันทราราชัย”, “แม็กกี้-อาภา ภาวิไล” โดยทั้งหมดได้ผ่านการเรียนการแสดงขั้นพื้นฐานแบบเคี่ยวข้นจากผู้กำกับชั้นครู “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นการเฉพาะ
และเพิ่มความเข้มข้นของเรื่องราวจากการแสดงระดับมืออาชีพของ “บีม-ศรัณยู ประชากริช” พร้อมด้วยนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ “สุเชาว์ พงษ์วิไล” และ “ชนานา นุตาคม” ซึ่งทั้งหมดได้พลิกบทบาทอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
“ตอนแรกก็คิดอยู่ในใจว่า โอ้โห บทเรื่องนี้มันต้องอาศัยการแสดงชั้นสูงนะครับ เพราะมันต้องเข้าใจในบทบาทตัวละครจริงๆ แต่ทีนี้พอมาคิดไปคิดมาแล้วเนี่ย การที่จะทำให้คนดูเชื่อว่านักแสดงที่คุ้นหน้าคนนั้นๆ มีสภาวะทางจิตแบบนั้นแบบนี้เนี่ย มันอาจจะยากกว่าเราปั้นนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมาให้เป็นตัวละครนั้นๆ ให้คนดูเชื่อถือได้มันอาจจะง่ายกว่า เพราะเขาไม่รู้จักตัวละครตัวนี้ แล้วถ้านักแสดงหน้าใหม่สามารถจะถ่ายทอดเรื่องราว บุคลิกภาพ คาแร็คเตอร์ของแต่ละตัว ปมปัญหา สภาวะทางจิตของแต่ละคนออกมาได้ ผมว่าคนดูจะเชื่อได้มากกว่า และที่สำคัญนักแสดงหน้าใหม่ก็จะมีเวลามากมายที่จะเวิร์คช็อป ที่จะซ้อมทำความเข้าใจกับตัวละครต่างๆ ได้มากพอ สำคัญอย่างยิ่งเราต้องเวิร์คช็อปในแง่ของวิชาชีพ ทุกคนต้องไปดูคนที่เขาทำอาชีพนี้จริงๆ ในแต่ละบทบาท ต้องไปดูว่าแต่ละคนคาแร็คเตอร์เป็นยังไง เขาจะต้องเป็นคนๆ นั้น เพราะฉะนั้นเขาจะต้องถ่ายทอดความเป็นคนๆ นั้นได้ “
‘น้องแบงค์’ (อาทิตย์ ตั้งวิบูลย์พาณิชย์) รับบทเป็น ‘เขื่อน’ จะเป็นนักจิตวิทยาที่ฉลาด แต่ในความฉลาดนั้นเขาแอบซ่อนอะไรบางอย่างไว้ในจิตใจ เขาพยายามจะหลีกหนีตัวเองโดยสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อจะลบปมด้อยของตัวเอง อันนี้คือตัวเขื่อนที่เป็นอยู่ และน้องแบงค์เนี่ยเขาเป็นเด็กที่ใหม่มากหน้าตาหล่อ ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดหนึ่งที่เราคิดว่าคนที่มีสภาพจิตใจที่ดี คิดบวกทำบวก เขาน่าจะมีบุคลิกภาพแบบนี้ หล่อ คมสัน ดูแลตัวเอง มีความเนี้ยบอยู่ในตัวเอง ที่สำคัญที่สุดคือเขาสามารถจะถ่ายทอดอารมณ์หลายๆ ด้านได้ ทั้งด้านการพูดการจาที่มั่นใจกับคนอื่น รอยยิ้มที่งดงามของเขา แต่ผมรู้สึกเสมอเวลาที่ผมคุยกับเขา เขาจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ต่อต้านอยู่ในตัวเขาตลอดเวลา ด้วยการพูดที่แปลกๆ พูดแล้วเหมือนไม่ใช่คนปกติ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการแสดงออกทางพฤติกรรมที่แปลกออกไป ซึ่งมันเป็นผลดีในแง่การแสดง มันทำให้หนังสมบูรณ์โดยตัวเอง
‘น้องป๊อปปี้’ (บุญยิสา จันทราราชัย) รับบทเป็น ‘เทียน’ นิติวิทยาศาสตร์สาว เราสังเกตได้ว่านิติวิทยาศาสตร์เกือบทุกคนจะมีคาแร็คเตอร์ของตัวเองชัดเจน ซึ่งตัวน้องป๊อปปี้เองเขาก็มีความเป็นผู้ชายสูง ซึ่งเราต้องการมาต่อกรกับนักจิตวิทยาได้ แล้วก็มีความมั่นใจมาก ไม่ค่อยอ่อนหวาน แต่กลับมาดมั่นแข็งแรง อันนี้คือบุคลิกภาพที่เราวางไว้ แล้วพอเราแคสติ้งได้น้องป๊อปปี้มาก็ใช่เลย ตรงกับสิ่งที่เราอยากได้เลย มันมีฉากที่ต้องถกเถียงด้วยวาจากับผู้ชาย เขาก็เอาอยู่และทำให้เราเชื่อได้ เขาก็จะมีภาวะบางอย่างอยู่ลึกๆ ในจิตใจของเขา ก็เลยมีความเป็นผู้ชายสูง ผมว่าเขาเหมาะมากในสิ่งเขาเป็นคนชอบค้นหาความจริง เพราะฉะนั้นมันก็เข้ากับคาแร็คเตอร์ของตัวเทียนมากๆ เลย
‘น้องแม็กกี้’ (อาภา ภาวิไล) รับบทเป็น ‘กวาง’ ตอนแรกผมนึกว่าน้องแม็กกี้จะอ่อนแอจนเอาบทนี้ไม่อยู่ แต่พอมาแคสติ้งจริงๆ แล้วเนี่ย ผมกลับต้องไปเปลี่ยนบทผม เพราะว่าเขาเข้าใจตัวละครตัวนี้มากจริงๆ เขาเข้าใจมัน เขาตีความ แล้วมันก็มีอีกมุมหนึ่งที่ผมไม่เห็น ผมคิดไม่ถึง เพราะเราเป็นผู้ชาย บางทีเราก็ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดแบบผู้หญิงซักเท่าไหร่ เขามีความละเอียดอ่อนมากกว่าเรา พอเขาเล่นเนี่ย แล้วเราต้องกลับไปแก้บท แล้วเราก็เอาคนนี้แหละ กลับไปแก้บทให้ตรงกับคนๆ นี้มากกว่า ตอนแรกก็ไม่ทราบว่าเป็นลูกคุณอรุณ ภาวิไล แล้วก็มาทราบตอนหลัง อ้าว จริงเหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วผมเคยถ่ายโฆษณาตั้งแต่เขายังเด็กๆ แล้วก็ไปทั้งครอบครัว เออก็ดี ได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นความบังเอิญโดยแท้ แม็กกี้ต้องเล่นเป็นเด็ก Broken Home ครอบครัวแตกร้าว ทำให้เขามีสภาพทางจิตค่อนข้างแย่ แล้วเขาก็รับบทนั้นได้ดี ทำให้เราเชื่อว่าเขาเป็นตัวละครนั้นจริงๆ เป็นผู้หญิงที่บอบบางอ่อนไหวง่ายกับทุกสิ่งที่มากระทบหมด ขณะเดียวกันก็พยายามจะทำให้ตัวเองเข้มแข็งโดยรูปลักษณ์ภายนอก ฉันกล้าฉันแกร่งฉันเที่ยวฉัน flirt กับทุกคนไปเรื่อย แต่จริงๆ แล้วสภาพทางจิตจะไหลไปกับสภาพเหตุการณ์แวดล้อมตลอดเวลา ซึ่งต้องยอมรับว่าน้องแม็กกี้ทำตรงนี้ได้ดีมาก
‘บีม ศรัณยู’ รับบทเป็น ‘คีย์’ คนนี้ต้องยอมรับว่าผมเลือกจริงๆ เพราะว่าเขาตรงกับคาแร็คเตอร์มากๆ แล้วก็เคยทำงานละครด้วยกันมา ก็เลยรู้สึกว่าใช่ แล้วบีมเวลาทำงานจะจริงจัง เขาอินกับคาแร็คเตอร์มาก เล่นหนังเล่นละครถ้าไม่สั่งคัทเขาจะไม่หยุดเล่นเลย เป็นคนที่ตั้งใจเล่นและอินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราก็รู้สึกว่าทำงานด้วยแล้วมีความสุข ชอบคนที่มีความตั้งใจสูงมากๆ เขาเป็นคนที่มีสองด้านจริงๆ เหมือนตัวละคร คือด้วยรูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนจะโหดๆ เหี้ยมๆ แต่ภายในบีมเป็นคนที่ร้องไห้ได้ตลอดเวลา คือเมื่อมีอะไรใหญ่ๆ มากระทบใจเขา เขาจะร้องไห้ได้ทันที เหมือนหลอดแก้วที่เปราะบางพร้อมจะแตก บีมเป็นคนแบบนั้น แล้วในตัวละครที่ชื่อคีย์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน การเรียนการแสดงเป็นเรื่องสำคัญ คือผมมีความคิดอย่างนี้เสมอ นอกจากจะเข้าใจพื้นฐานการแสดงและการวอร์มอัพตัวเองแล้ว ก็ต้องรู้จักหยิบตัวละครที่อยู่ในหนังมาใส่ตัวเอง แล้วเมื่อทำงานเสร็จก็ต้องถอดตัวละครตัวนี้ออกไปด้วย แล้วก็เข้าใจระดับพื้นฐานการแสดงว่าสามารถที่จะเพิ่มได้เมื่อผมอยากให้เพิ่ม ลดได้ถ้าผมอยากให้ลด ลดยังไงเพิ่มยังไงการเรียนการแสดงจะทำให้เขาเข้าใจตรงนี้ โชคดีที่ได้ “หม่อมน้อย” มาช่วยเราตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจ็คต์นี้ ทุกคนได้ไปเรียนตั้งแต่เบสิคพื้นฐานจนถึงขั้นสูงแต่เป็นคอร์สแบบรวดเร็วนิดนึงก็เรียนกันอยู่ประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งพวกเขาก็ไปเรียนอยู่ตลอดอาทิตย์ละ 2-3 วัน นอกจากพื้นฐาน ความเข้าใจ ทัศนคติทางการแสดงแล้ว เขาก็ยังเคี่ยวข้นเรื่องบทบาทคาแร็คเตอร์ในเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย ก็รู้สึกว่าได้ผลและมีประโยชน์กับน้องๆ และหนังเรื่องนี้มากๆ ทำให้ทุกคนแข็งแรงขึ้นอย่างทันตาเห็น
ส่วน ‘พี่เชาว์’ (สุเชาว์ พงษ์วิไล) กับ ‘พี่ดี้’ (ชนานา นุตาคม) ก็เป็นอีกสองนักแสดงและสองตัวละครที่เข้ามาเติมเต็มเรื่องอย่างสมบูรณ์ด้วยคาแรคเตอร์และฝีมือการแสดงที่เราไม่ต้องสาธยายกันมากนะครับ เรียกได้ว่าเพิ่มความเข้มข้นทางอารมณ์ของหนังได้เป็นอย่างดีเลยครับ”
***เตรียมพร้อมข้อมูล ทวีคูณความเข้าใจ ใส่ใจงานทุกขั้นตอน***
เนื่องจากเป็นแนวภาพยนตร์ที่แปลกใหม่สำหรับตัวผู้กำกับเอง งานนี้จึงต้องเตรียมงานกันอย่างสมบูรณ์พร้อมก่อนการถ่ายทำจริง ทั้งการรีเสิร์ชข้อมูลมากมาย กรณีศึกษาต่างๆ (Case Study) เพื่อนำมาใส่เป็นรายละเอียดของคาแร็คเตอร์ตัวละครแต่ละตัว ฉะนั้น “ความเข้าใจ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้กำกับย้ำให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดีไซน์ช็อตภาพต่างๆ ของหนัง ดีไซน์เฟรม ดีไซน์สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในหนังเพื่อเสริมสีสันความเข้มข้นนั้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องเกิดจากกระบวนการเข้าใจก่อนทั้งสิ้น
“ใช่ครับ แนวนี้ไม่เคยกำกับเลยครับ คือขณะที่รู้สึกกับเรื่องราวความผิดเพี้ยนของมนุษย์ประจวบกับได้สคริปต์ที่ชนะมา ก็รู้สึกดีใจมากเลยว่าเราได้พบทางอีกทางของเราแล้ว มันเป็นเรื่องที่เราไม่เคยเล่าแล้วก็ไม่เคยทำหนังประเภทนี้นะครับ เมื่อมีโอกาสได้ทำก็รู้สึกดีใจมากว่าเราได้ทำอะไรใหม่ๆ อีกแล้ว เราได้คิดภาษาภาพใหม่ๆ อีกแล้ว เราได้ค้นหาวิธีการเล่าหนังใหม่ๆ อีกแล้ว ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกสนุกเวลาทำหนัง เวลาที่ได้เจออะไรใหม่ๆ แบบนี้เริ่มแรกก็ต้องหาข้อมูลมากมาย และสำคัญที่สุดเลยเราต้องเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำ ถ้าเราไม่เข้าใจซะแล้ว เราก็ไม่อาจอธิบายสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดให้กับตัวละครได้เมื่อมีคำถามเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเขียนคาแร็คเตอร์ตัวละครแต่ละตัวออกมา มันต้องเกิดจากการเอาเคสต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับคนๆ นี้ หรือบางทีก็เอา 4-5 เคสมารวมให้คาแร็คเตอร์คนนี้ไป การเตรียมตัวก็เลยจะต้องทำทุกอย่างให้พร้อมที่จะตอบตำถามตัวเองเวลาที่เราต้องการดีไซน์ช็อตต่างๆ ของหนัง ดีไซน์ภาพ ดีไซน์เฟรม เฟรมนี้มันจะบอกอะไร มันจะพูดถึงอะไร หรือกระทั่งสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เอามาใช้ในหนัง มันก็ต้องเกิดจากกระบวนการเข้าใจก่อน รู้ว่าภาพในหัวของคนๆ นี้จะออกมาเป็นยังไง เขาจะเห็นเป็นแบบที่เขาคิด เพราะฉะนั้นเราต้องคิดแทนตัวละครทุกตัว และดีไซน์สัญลักษณ์ทุกตัวออกมาให้เข้ากับสิ่งที่เขาคิดอยู่ในหัวอย่างแท้จริง เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้จะไม่พูดออกมา ถ้าคนเหล่านี้เป็นคนที่พูดออกมา เขาจะไม่เป็น เขาจะไม่มีสภาวะอย่างนี้ เพราะเขาได้พูดคุย ได้ระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมา แต่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจากที่ผมรีเสิร์ชมามักจะไม่พูด จะเก็บไว้ข้างใน บางคนเก็บจนกระทั่งซ่อนมันไว้เลย ไม่พยายามคิดถึงมัน แล้วก็กดความรู้สึกอันนั้นเอาไว้ กดเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ แล้วก็ไม่พูดมันออกมา ไม่อธิบายให้ใครฟัง นั่นทำให้คนเหล่านั้นมีสภาวะหรือสภาพการณ์ทางจิตหรือทางประสาทที่มันบิดเพี้ยนไปได้โดยทางภาพเราดีไซน์ให้ภาพทุกภาพที่เกิดขึ้นในหนังเนี่ยมันไม่นิ่ง มันเหมือนกับสภาพจิตใจของคนเมืองนี้แล้วไม่นิ่ง กล้องจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลามากบ้างน้อยบ้าง แต่จะไม่มีกล้องนิ่งๆ เลยในหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจะเกิดการดีไซน์การเคลื่อนไหวของกล้อง และขณะเดียวกันกล้องจะเคลื่อนไหวผ่านสิ่งที่ทำให้ภาพของคนนั้นมันบิดเบี้ยวไปตามวัตถุต่างๆ อาทิเช่น ภาพที่มันมีกระจกวางทับเหลื่อมซ้อนกันอยู่ เมื่อกล้องผ่านกระจกเหล่านั้นแล้วข้างหลังเป็นคนเนี่ย คนนั้นจะมีอาการเพี้ยนๆ จากรูปทรงที่เป็นปกติ จะมีวิธีการเล่าแบบนี้เสมอๆ”
***มหานครกรุงเทพ โลกจำลองแห่งความบิดเบี้ยว***
สถานที่ถ่ายทำหลักของภาพยนตร์ที่สะท้อนจิตใจอันบิดเพี้ยนของมนุษย์เรื่องนี้ ผู้กำกับฯตั้งใจใช้เมืองศิวิไลซ์อย่าง “กรุงเทพมหานคร” ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายของฝูงชน ตึกระฟ้า ยวดยานพาหนะ และความทันสมัยของเทคโลยีที่มีมากเกินความจำเป็น เป็นตัวแทนฉายภาพความไม่ปกติของสภาวะทางจิตได้เป็นอย่างดี
“ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของอาการและเรื่องราวเหล่านี้ เพราะว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เนี่ยมันพร้อมที่จะทำให้คนเราหรือใครก็ได้ โดยเฉพาะผมจะรู้สึกเสมอว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ผมจะรู้สึกว่ามันไม่ไหว รู้สึกว่ามันกดดัน เครียด แล้วมันก็มีสภาวะทางความคิด สภาวะจิตใจที่มันบิดเบี้ยวสูง มันพร้อมที่จะทำให้ผมบิดเบี้ยวได้ตลอดเวลา ผมเคยอยากจะตะโกนลั่นในห้างดังๆ มันรู้สึกว่าหนวกหูมาก มันวุ่นวายมาก เมื่อเราจะไปซื้ออาหารในร้านสักร้านหนึ่งมันก็จะมีคนวิ่งฮือมาแซงหน้าเรา คือผมรู้สึกว่ามันต้องแย่งกันกินแย่งกันอยู่แย่งอะไรกันขนาดนี้เลยเหรอ มันมีเสียงตะโกนโฆษณา มันมีเสียงเพลงบ้าๆ บอๆ ดังๆ แล้วใครจะฟัง ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้ยินสักอย่าง มันมีแต่ความรกหู มันทำให้คลื่นสมองผมมันสูงมาก การอยู่ในเมืองมันไม่เวิร์คเลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่แหละมันเป็นโมเดลของซิตี้ที่ควรจะเป็นสภาวะความบิดเบี้ยวและขาดวิ่นทางจิตใจได้สูงมากคือที่นี่แหละ มันหมายถึงเมืองสมมติ เมืองตัวอย่างที่มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ครับ”
***ความย้อนแย้งหนักแน่นระหว่างความแรงของเนื้อหากับงานภาพสวีทหวาน***
ภาพยนตร์ไซโค-ทริลเลอร์จิตๆ ที่มีเนื้อหาการฆาตกรรมแรงๆ ที่ผ่านๆ มามักจงใจนำเสนอภาพอย่างดิบเถื่อนดำมืด โหดเหี้ยมไม่น่าไว้วางใจเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อผู้กำกับฯ นนทรีย์มาจับแนวหนังเขย่าจิตนี้เป็นครั้งแรก จึงตั้งใจออกแบบงานสร้างและงานภาพให้ออกมาแตกต่าง ย้อนแย้งเนื้อหาที่มีความรุนแรงด้วยสไตล์ภาพที่นุ่มนวลสวีทหวาน เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ในภาพยนตร์แนวนี้และสะท้อนภาพสภาวะทางจิตอีกแง่มุมหนึ่งด้วย
“ผมอยากจะบอกว่าจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ถ้าจะพูดทั่วไปแล้วมันก็เป็นหนังไซโค-ทริลเลอร์ คือมีการฆาตกรรม มีการซ่อนเงื่อนอะไรต่างๆ เอาไว้ ผมชอบดูหนังแบบนี้ แล้วดูมาเยอะมาก จนผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วจะออกมาในโทนที่ใกล้ๆ กันหมดเลย คือมีความทึบทึม มืดดำ โหดร้าย แล้วองค์ประกอบทุกอย่างมันพยายามที่ทำให้มันเกิดสภาวะแบบนั้น แต่หนังของผม ผมอยากจะบอกว่ามัน sweet มาก คืออยากทำให้มันแตกต่าง อยากให้มันคอนทราสต์ ผมมีความรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นมั้งเวลาที่เราจะเห็นใครฆ่ากันแล้วมันจะต้องหนักหน่วง ภาพมันจะต้องดิบเถื่อนอยู่ตลอดเวลา ผมรู้สึกว่าถ้ามันงามล่ะ เพราะว่าคนที่มีจิตใจที่บิดเพี้ยนขาดวิ่น ผมเชื่อการที่เขาจะฆ่าใครสักคนมันไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งต่างจากสายตาคนอื่น ผมเชื่อว่าการแสดงออกของคนเหล่านี้ขัดแย้งกับสิ่งที่โลกนี้เป็น ผมว่าเขาทำเพราะรู้สึกว่ามันดี มันงาม มันมีความสุข ผมก็เลยใช้วิธีการแสดงออกของเขาด้วยเพลงเพราะๆ แล้วภาพสวยๆ มีการดีไซน์เสื้อผ้า ดีไซน์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในฉากอย่างสวยงาม สีก็ขาวไม่ต้องทึบทึม ไม่ต้องไปฆ่ากันในท่อมืดๆ ดำๆ ความงามมันเกิดได้ทุกที่
แล้วอีกอย่างหนึ่งผมไม่อยากให้คนดูรู้สึกอึดอัดกับการฆ่าในหนังแบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนปฏิเสธหนังทำนองแบบนี้ เพราะว่าเขารู้สึกว่ามันโหด พอเขาไปดูแล้วรู้สึกมันฝังใจเขาอยู่ แต่สำหรับเรื่องนี้ผมว่าไม่ใช่เลย หนังผมจะสวีท ผมจะทำให้หนังเรื่องนี้ให้มันมีความหวานอยู่ในนั้น คือใครก็ดูได้ แต่ว่าดูด้วยความเข้าใจ มันมีเรื่องราวอื่นๆ ที่มันสามารถจะแสดงสภาวะแบบนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องใช้ความโหดเหี้ยม ผมพยายามเลี่ยงฉากแบบนี้ เลี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดหรือที่จำเป็นที่สุด แต่บางอันต้องการความชัดเจนก็เอาให้มันชัดเจนไปเลย สภาพศพก็เอาให้มันชัดไปเลย แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็จะเลี่ยงเป็นการเล่าไปแทน หรือเป็นการใช้สัญลักษณ์บางอย่างแทน เพื่อจะไม่ให้หนังเรื่องนี้ดูแล้วมันรู้สึกหดหู่เกินไป ผมอยากให้ดูด้วยความเข้าใจสนุกกับมัน เพลงเพราะ ภาพสวย แล้วก็เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการป้อนเข้าไปให้คุณเข้าใจกับโลกใบนี้”
***คน-โลก-จิต ปิดยังไงก็ไม่มิด คือจิตวิปริตของคน***
สภาวะความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ เป็นตัวจุดประกายและแตกยอดให้เกิดเป็นประเด็นที่น่าสนใจของเรื่อง “คน-โลก-จิต” ขึ้น ซึ่งจะได้สะท้อนแง่มุมต่างๆ ทั้งดีและร้ายของจิตใจมนุษย์ให้เห็นภาพอย่างสมจริงที่สุด รวมถึงอาจเป็นการพลิกมุมมองอีกด้านของคำว่า “คิดบวก-Positive Thinking” ที่อาจจะไม่ได้มีแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว ถ้าหากเราจงใจละเลยหรือมองข้ามความเป็นจริงของชีวิตไป
“จริงๆ แล้วหนังเรื่อง ‘คน-โลก-จิต’ มันเป็นเรื่องของความรู้สึก มีแต่การแสดงออกบิดเบี้ยวของสมองและจิตใจ แล้วความบิดเบี้ยวมันก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ทั้งปัญหาครอบครัวจนกระทั่งถึงปัญหาเรื่องส่วนตัวแล้วก็ขยายไปใหญ่ขึ้น โดยมีคดีฆาตกรรมเป็นจุดที่ทำให้ทุกตัวละครมาเจอกัน ความสัมพันธ์ที่มันซับซ้อน ทำให้ทุกคนได้ค้นพบตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ฉันเป็นอยู่ ชีวิตที่ดำเนินไปอยู่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า หรือการใช้ชีวิตของแต่ละคนมันไปกระทบใครบ้าง หนังเรื่องนี้เป็นการนั่งเฝ้ามองตัวละครทั้งสี่ตัว ซึ่งผมจะให้ตัวละครทั้งสี่ตัวเป็นตัวแทนของคนในเมืองหลวง มันก็เหมือนคนในสังคม ผมรู้สึกว่าในประเทศเราเองทุกๆ อย่างมันเหมือน connect กันหมด ใครจะทำอะไรอย่างหนึ่งมันส่งผลให้คนอื่นเสมอๆ นะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์จะพูดถึงก็คือว่า ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไร ลงมือพูดอะไรขอให้เราตั้งสติดีๆ เพราะว่าหลายๆ ครั้งที่เราทำหรือพูดอะไรลงไปโดยไม่ตั้งใจ มันส่งผลกระทบถึงคนไม่ใช่แค่คนเดียว มันส่งผลเป็นโดมิโน่กระทบไปถึงสังคมและประเทศได้ เรื่องราวความสลับซับซ้อนของจิตใจของมนุษย์มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของคน เรื่องของโลกใบนี้ เรื่องของจิตใจ สามสิ่งนี้มันสัมพันธ์กันอย่างไร ผมว่าทุกคนในโลกใบนี้สามารถที่จะเข้าสู่สภาวะผิดเพี้ยน ขาดวิ่นทางจิตใจได้ทั้งนั้น ด้วยสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทำให้จิตใจของเรามันบิดเบี้ยวได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกให้ทุกคนได้รับทราบถึงสภาพความผิดเพี้ยน เพื่อจะให้เราได้สำรวจตัวเองบ้างว่าเรามีอาการแบบนั้นหรือเปล่า หนังเรื่องนี้อยากจะพูดเรื่องนี้กับคุณในแนวไซโค-ทริลเลอร์แบบหวานๆ อยากจะให้คุณเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ อย่าประมาท แล้วก็อย่าเพิกเฉยกับเรื่องแบบนี้ครับ”
บันทึกภาพ: สหมงคลฟิล์ม