ร่างกายอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ตาพร่ามัว พูดลำบาก เวียนหัว เดินเซ ลิ้นแข็ง กลืนอาหารลำบาก และซึมโดยไม่รู้ตัว เป็นสัญญาณเตือนภัยอันน่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมอง เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิภาวดี เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “โรคหลอดเลือดสมอง” โดยนายแพทย์พงศกร ตนายะพงศ์ และแพทย์หญิง ณัฐกานต์ ศรีประทักษ์ เพื่อแนะแนวทางให้ความรู้เบื้องต้นกับคนรักสุขภาพ โดยมี นายดำฤทธิ์ วิริยะกุลแพนเค้ก-เขมนิจ และคุณแม่นวลนง จามิกรณ์ ร่วมอัพเดทข้อมูลสุขภาพ ในงาน “Healthy Brain Healthy Life” ณ โรงพยาบาลวิภาวดี เมื่อเร็ว ๆ นี้
นายแพทย์พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา โรงพยาบาลวิภาวดี เปิดเผยว่า จากการศึกษาโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของทั่วโลก และกำลังจะขึ้นเป็นสาเหตุของการตายอันดับแรกในไม่ช้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในจำนวนคน 100,000 คน มีอัตราการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 690 คน และ 70% ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน ซึ่งโรคนี้ เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบตัน ทำให้เนื้อสมองขาดเลือด เนื้อสมองส่วนตรงกลางก็จะเริ่มตาย และค่อยๆ เพิ่มขนาดของเนื้อสมองที่ตาย ออกมาสู่สมองส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้!
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ค้นพบว่าภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 270 นาที นับตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยเกิดอาการ จะเป็นเวลาสำคัญที่แพทย์จะใช้ในการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่านี้มักจะไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการนี้ได้ ในทางการแพทย์จึงเรียกแผนการรักษานี้ว่า “Stroke Fast Track หรือทางด่วนโรคหลอดเลือด หรือ 270 นาทีชีวิต โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่ แขนขาอ่นแรงครึ่งซีก แขนขาชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง มองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ มองเห็นภาพไม่ชัด เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ เวียนหัว บ้านหมุน ซึ่งเป็นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด หรือเป็นหลังตื่นนอน หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาททันที
แพทย์หญิงณัฐกานต์ ศรีประทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองคือ อายุที่สูงขึ้น ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป ประวัติครอบครัว โรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันและลดโอกาสเสียชีวิตได้ เช่น ดูแลโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และถ้าเกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิภาวดี มีทีมแพทย์ ทีมพยาบาล พร้อมให้การรักษาโดยจะคัดกรองความผิดปกติดังกล่าว เพื่อเข้าแผนการรักษา Stroke Fast Track ตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล จนกระทั่งได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมดูแลรักษาฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย”
ด้าน นายดำฤทธิ์ วิริยะกุลคนไข้ผู้มีประสบการณ์ตรงกับโรคหลอดเลือดสมอง เปิดเผยว่า “ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เป็นคนที่ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เป็นเวลา มีออกกำลังกายบ้างแต่ก็ไม่สม่ำเสมอเพราะงานที่รัดตัว แต่ครอบครัวมีประวัติคุณพ่อเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้พอรู้อาการในเบื้องต้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดกับตัวเอง เพราะเป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัวเลย แต่อาการมันมาแบบฉับพลันมาก เริ่มจากท้องเสีย และปากเริ่มเบี้ยว ภรรยาเห็นว่าผิดปกติ จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดี โชคดีที่ไปโรงพยาบาลทันใน 4 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ก็ได้ทำการรักษาตามขั้นตอน จนสามารถรอดวิกฤตินั้นมาได้ ปัจจุบันนี้ก็ดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทั้งออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานเครียดจนเกินไป ตอนนี้หายเป็นปกติแล้ว แต่ยังมาเช็คร่างกายกับคุณหมอเป็นประจำ”
ส่วนนางเอกสาวรักสุขภาพ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ บอกว่า “นอกจากจะดูแลสุขภาพตัวเองแล้ว สุขภาพคุณพ่อ คุณแม่ก็สำคัญ ถึงทั้งสองท่านไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ แต่แพนก็จะพาท่านทั้งสองมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่างวันนี้พาคุณแม่มาอัพเดทความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง มีประโยชน์มากๆ ค่ะ ทำให้เรารู้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีอะไร อาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนว่าจะเป็นโรคนี้มีอะไรบ้าง โรคนี้เป็นภัยเงียบจริงๆ เลยอยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพ เริ่มจากตัวเราเองก่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อตัวคุณเองค่ะ”
บันทึกภาพ: โพลีพลัส พีอาร์