มีนัดกันทุกปีกับการรวมตัวผลักดันไอเดียงานออกแบบของดีไซเนอร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก โดยเหล่าสมาชิกแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของเมืองไทย ‘สมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ’ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS) ไม่หยุดนิ่งที่จะหาคอนเซปต์งานดีไซน์และการแสดงโชว์รูปแบบใหม่ๆ ให้เหล่าคนรักแฟชั่นมาอัพเดทเทรนด์ได้อย่างตื่นตา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยครั้งนี้ได้มีการสร้างสรรค์รูปแบบของการถ่ายทอดเรื่องราวแนวความคิดทางแฟชั่นให้อยู่ในรูปแบบภาพยนตร์สั้นผ่านจอแก้วขนาดยักษ์ ตบท้ายด้วยมินิแฟชั่นโชว์ที่เหล่าแฟชั่นนิสต้าจะได้สัมผัสนิยามของคำว่า ”แฟชั่นไทยแบรนด์” ได้ครบทุกอรรถรส บริเวณ ควอเทียร์ ซีนีอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ชั้น 4 ด้วยการสนับสนุนจาก QURATOR “The Ultimate Thai Designer Showcase” EMQUARTIER, ควอเทียร์ ซีนีอาร์ต, ชลาชล แบงค็อก, เครื่องสำอาง M.A.C และบริษัท ตือ จำกัด
โดยในปีนี้ได้มีการจัดโชว์คอลเลกชั่นจาก 11 แบรนด์ไทยชั้นนำ ได้แก่ ‘อาซาว่า’ (ASAVA) โดย “หมู” พลพัฒน์ อัศวะประภา , ‘มิลิน’ (Milin) จาก “มีมี่” มิลิน ยุวจรัสกุล , ‘วิคธีร์รัฐ’ (Vickteerut) โดย “วิค” ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน, ‘คลอเส็ท’ (Kloset) นำโดย “แก้ม”มลลิกา เรืองกฤตยา , ‘ตุ๊ดตี้ แอนด์ ตุ๊ดตี้ ฟรุตตี้’(Tutti & Tutti Frutti) จาก “ตู๋ตี๋” นัทธนุช วงศ์พัวพันธ์ , ‘เกรฮาวด์ ออริจินัล’ (Greyhound Original) นำโดย “แดง” ภาณุ อิงคะวัต , ‘อิชชู่’ (Issue) โดย “โรจน์” ภูววิศ กฤตพลนารา, ‘เพนคิลเลอร์’ (Painkiller) โดย “โม” ภูมิศักดิ์ และ “อร” สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์, ‘เพลย์ฮาวด์ บาย เกรฮาวด์’ (Playhound by Greyhound) โดย “รอง” จิตต์สิงห์ สมบุญ, ‘คูเรเตด บาย เอก ทองประเสริฐ’ (Curated by Ekthongprasert) และ ‘ซีนาด้า’ (Senada)โดย ชนิตา ปรีชาวิทยากุล ในรูปแบบสุดเอ็กซ์คลูซีฟ
พลพัฒน์ อัศวะประภา ในฐานะนายกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “เรายังคงยึดอุดมคติเดิม ‘BANGKOK BASED ASEAN BEST’ เพราะเราต้องการให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นที่มีความโดดเด่นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพของงานฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาล สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงผู้บริโภค ก้าวนี้จึงเป็นก้าวสำคัญของสมาคมฯที่ต้องผนึกกำลังกันเพื่อให้สมาคมเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้มีโอกาสก้าวหน้าไปมากขึ้น และที่สำคัญเราเชื่อว่าแบรนด์ไทยมีคุณภาพมากพอที่จะสามารถเจริญรุดหน้าไปได้ในต่างประเทศ”
สำหรับปีนี้แต่ละแบรนด์ต่างก็มีผลงานการออกแบบที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ในภาพยนตร์สั้นได้นำเสนอสไตล์แฟชั่นที่แตกต่าง หากแต่ว่ายังคงมีกลิ่นอายที่สอดคล้องกันอยู่ โดยสามารถจัดเป็นหมวดหมู่ แบ่งออกเป็น 6 เทรนด์หลักดังนี้
- แคมปัส คัลเลอร์ (Campus Colour) การใช้สีในคอลเลกชั่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของชุดยูนิฟอร์มนักเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ สีน้ำเงิน, สีเลือดหมู, สีเขียว, สีเหลือง, สีขาว, สีดำ ซึ่ง แบรนด์ที่ค่อนข้างเด่นในการใช้สีเหล่านี้ ได้แก่ ‘เกรฮาวด์ ออริจินัล’ (Greyhound Original), ‘อาซาว่า’ (ASAVA), ‘เพนคิลเลอร์’ (Painkiller), ‘คลอเส็ท’ (Kloset), ‘เพลย์ฮาวด์ บาย เกรฮาวด์’ (Playhound by Greyhound) และ ‘วิคธีร์รัฐ’ (Vickteerut)
- ทรี ไดเมนชันนอล อาร์ท (3 Dimensional Art) เป็นการใช้เทคนิคในการตัดเย็บที่ทำให้เสื้อผ้าเกิดความมีมิติขึ้นมา โดยการสร้างวอลลุ่ม การจัดโบว์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในแบรนด์ ‘คูเรเตด บาย เอก ทองประเสริฐ’ (Curated by Ekthongprasert), ‘วิคธีร์รัฐ’ (Vickteerut) รวมไปถึงในเรื่องของรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น การปักเลื่อมเข้าไป ซึ่งแบรนด์ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ‘คลอเส็ท’ (Kloset), ‘มิลิน’ (Milin)
- เจนเดอร์เลส เจ็น (Genderless Gen) เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงที่ชอบการแต่งตัวสไตล์มาสคิวลีน เช่น การใส่สูท ใส่เสื้อเชิ้ตกับกางเกงสแลค สวมแจ็คเก็ตเพิ่มความเท่ ซึ่งแบรนด์ที่โดดเด่นในเทรนด์นี้ ได้แก่ ‘วิคธีร์รัฐ’ (Vickteerut), ‘อาซาว่า’ (ASAVA), ‘เกรฮาวด์ ออริจินัล’ (Greyhound Original)
- ทเว็นตี้โฟว์ เซเว่น กาว์น (24/7 Gawn) ชุดที่มีความหรูหรา เสริมภาพลักษณ์ให้ผู้สวมใส่ดูดีอยู่ตลอดเวลา แต่ยังสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ การใส่กางเกงขายาวปิดเท้า กระโปรงยาวกรุยกราย ที่จะเพิ่มความหรูหราเป็นพิเศษกว่าชุดธรรมดาทั่วไป ในเทรนด์นี้จะค่อนข้างเห็นชัดในทุกแบรนด์
- แมททีเรียล ลิซึม (Material-ISM) ในคอลเลกชั่นนี้แต่ละแบรนด์ได้มีการนำวัสดุที่แปลกใหม่มาใช้ในการตัดเย็บกันมากเป็นพิเศษ เช่น กระโปรงผ้าลูกฟูกที่จะได้เห็นในแบรนด์ ‘มิลิน’ (Milin) ผ้าใยสังเคราะห์ฉลุเป็นลวดลายของแบรนด์ ‘คูเรเตด บาย เอก ทองประเสริฐ’ (Curated by Ekthongprasert) การใช้ผ้าลูกไม้ในแบรนด์ ‘ตุ๊ดตี้ แอนด์ ตุ๊ดตี้ ฟรุตตี้’(Tutti & Tutti Frutti) ซึ่งในแต่ละแบรนด์จะมีแมททีเรียลใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาในคอลเลกชั่นนี้มากเป็นพิเศษ
- สปอร์ตโหมด/สปอร์ต ซินโดรม (Sport Mode/Sport Syndrome) เทรนด์นี้ถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้นที่ความเป็นสปอร์ตมากขึ้น โดยแต่ละแบรนด์จะเพิ่มความสปอร์ตเข้าไปในการออกแบบของตนเอง เช่น ‘คูเรเตด บาย เอก ทองประเสริฐ’ (Curated by Ekthongprasert) ที่สไตล์ในครั้งนี้จะมีความเป็นแอฟริกัน แต่ก็เพิ่มกางเกงทรงสปอร์ตเข้าไป กับรองเท้าผ้าใบเท่ๆ ที่ให้มีกลิ่นของลุคสปอร์ตเข้ามา
หลังจากชมแฟชั่นสวยจากทุกแบรนด์ไปเรียบร้อยแล้ว “หมู” พลพัฒน์ นายกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ เล่าถึงเป้าหมายในอนาคตของแบรนด์แฟชั่นไทยว่า เรื่องใหญ่ที่อยากให้ความสำคัญคือความสามารถของคนไทย ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ในภูมิภาคนี้เราเข้มแข็งที่สุดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เราเข้มแข็งได้ที่สุดก็คือ การยอมรับจากตลาดผู้บริโภคคนไทย ที่จะทำให้แบรนด์ไทยเข้มแข็งขึ้น ตอนนี้เราอยู่ในยุคเศรษฐกิจแบรนด์ต่างชาติ เข้ามาทำตลาดที่เมืองไทยมากมาย เป็นเรื่องสำคัญที่สมาคมต้องตอกย้ำให้คนไทยเห็นถึงศักยภาพของแบรนด์ไทย อุตสาหกรรมจะอยู่ไม่ได้ถ้าคนไทย ไม่อุดหนุนกันเอง แบรนด์ไทยจะไปเมืองนอกก็ต่อเมื่อแบรนด์ไทยมีความเข้มแข็งภายในประเทศแล้ว
ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำเทคนิคการมิกซ์แอนด์แมทช์ชุดในฤดูกาล ออทั่ม/วินเทอร์ 2015 เริ่มจาก แฟชั่นผู้หญิงต้องเพิ่มความเป็นสตรีท ใส่ได้จริงในแบบที่คล่องตัวมากขึ้น เพราะสมัยนี้คนที่มีอิทธิพลทางแฟชั่นจริงๆ คือคนทั่วไปที่ใส่เสื้อผ้าเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ผู้หญิงในนิตยสาร
“วิธีมิกซ์ก็ควรให้ดูง่าย ให้ดูสบาย ดูสวมใส่ในชีวิตจริงได้มากที่สุด ผู้หญิงที่สามารถแต่งตัวได้แฟชั่นตั้งแต่หัวจรดเท้าอาจจะขาดความมีเสน่ห์ ผู้หญิงที่มีเสน่ห์จริงๆ ต้องแต่งตัวออกมาเหมือนไม่ได้เสียเวลาไปกับการแต่งตัวมาก ซึ่งจริงแล้วอาจจะใช้เวลามาก หรือเรียกว่าดูไม่ได้ใช้ความพยายามมากนัก สังเกตว่าดีไซเนอร์ทุกคนเขาจะมีวิธีการผสมผสานเสื้อผ้าให้ดูใส่ง่ายขึ้น เช่น กระโปรงยาว กับเสื้อเชิ้ต ดูเนิร์ดมีกลิ่นของความเป็นยุค 1970 แต่ในขณะเดียวกันก็มีลุคน่ารัก มีงานปัก มีประดับโบว์ เพราะฉะนั้นเทรนด์ของผู้หญิงตอนนี้จะมี 2 ทาง ได้แก่ เป็นผู้หญิงสายเท่ เป็นผู้หญิงสายเฟมินีน”
“ส่วนแฟชั่นของผู้ชายมีการผสมความเป็นสปอร์ต เสื้อเชิ้ต กับกางเกงวอร์ม กางเกงยางยืด ปลายขาจั๊มยางยืด หรือกางเกงทรงที่ได้รับอิทธิพลมากจากสเวต แพนท์ ใส่คู่กับรองเท้าหนังกึ่งผ้าใบ ก็จะเป็นลุคที่ค่อนข้างแรงที่สุด หรือจะใส่เป็นเสื้อสเวตเชิ้ต เหมือนเป็นเสื้อวอร์มที่ตัดจากผ้าสูท กับกางเกงสแลคและรองเท้าหนัง” ดีไซเนอร์ไทยมากฝีมือให้คำแนะนำทิ้งท้าย
การนำเสนอผลงานของ สมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ (BFS) ของปี 2015 นี้ ล้นด้วยไอเดียการแต่งกายหลากหลายสไตล์ด้วยแบรนด์ไทยมากฝีมือ นับเป็นมิติอันดีต่อไปที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเมืองแฟชั่น และที่สำคัญคือคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันสนับสนุน และเห็นคุณค่าของงานสร้างสรรค์ให้เป็นกำลังใจสู่เหล่านักออกแบบไทยได้พิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ไกลถึงระดับโลก
บันทึกภาพ: ฟรีโฟลว์ คอมมิวนิเคชั่น