Chernobyl Diaries : เมืองร้าง มหันตภัยหลอน

แชร์ข่าวนี้

Chernobyl Diaries ภาพยนตร์โดย ออเรน เพลี ผู้ให้กำเนิดหนังสยองขวัญ Paranormal Activity ที่สร้างปรากฏการณ์มาตลอดสามภาค

เรื่องราวของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันหกคนที่เดินทางเที่ยวทั่วยุโรป ก่อนที่ความคึกคะนองจะทำให้พวกเขาจ้างไกด์เถื่อนให้พาเข้าไปในเขตหวงห้าม โดยพวกเขาเดินทางเข้าไปในพริเพียต ซึ่งเป็นเมืองของคนงานในโรงงานกัมมันตภาพรังสีเชอร์โนบิลอันโด่งดัง ซึ่งกลายเป็นเมืองร้างนับตั้งแต่เกิดหายนะเมื่อ 25 ปีก่อน หลังจากพวกเขาได้สำรวจเมืองร้างแห่งนี้ ทั้งเจ็ดคนก็พบว่าตัวเองกำลังถูกจับตามอง และค้นพบว่าพวกเขาอาจจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อาศัยอยู่ในที่แห่งนี้

ภาพยนตร์กำกับโดย แบร็ด พาร์คเกอร์ มือเอฟเฟ็คจาก Let Me In อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ออเรน เพลี และร่วมเขียนบทโดย แครี่ แวน ไดค์ และ เชน แวน ไดค์ นำแสดงโดยทีมนักแสดงวัยรุ่น เจสซี่ย์ แม็คคาร์ทนี่ย์ นักร้องป็อปชื่อดัง, โอลิเวีย ดัดลี่ย์ (ซีรี่ย์ CSI: Miami), โจนาธาน ซาโดวสกี้ (Friday the 13th, Live Free or Die Hard) และ นาธาน ฟิลลิปส์ (Snakes on a Plane, Wolf Creek)

ทีมงานของ Chernobyl Diaries ยังประกอบไปด้วยผู้กำกับภาพ มอร์เท็น โซเบิร์ก (After the Wedding, Vahalla Rising), ผู้ออกแบบงานสร้าง อเล็กซานดาร์ เดนิค (Deathwatch, Cat Run), ผู้ดูแลเอฟเฟ็ค มาร์ค ฟอร์เกอร์ (The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring, Titanic), และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย โมเมอร์ก้า ไบโลวิค (Lockout, The Brothers Bloom)

จุดเริ่มต้น “ขอต้อนรับสู่ทัวร์สุดเอ็กสตรีม”

ที่ประเทศยูเครน วันที่ 26 เมษายน ปี 1986 โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เกิดระเบิดขึ้น ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มีความรุนแรงเท่ากับระเบิดปรมาณู 400 ลูก นี่ถือเป็นหายนะที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

เมืองพริเพียต ที่อยู่อาศัยสำหรับคนงานโรงงานนิวเคลียร์และครอบครัว ต้องอพยพภายในเพียงชั่วข้ามคืน สิ่งของทุกอย่างถูกทิ้งเอาไว้ภายในบ้าน ทั้งโรงงาน สวนสาธารณะ โรงเรียน และร้านค้า และประชากรทั้งหมดประมาณ 50,000 หลังคาเรือน ทั้งหมดคิดว่านี่เป็นเพียงแค่การอพยพชั่วคราว… แต่มันไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อเวลาผ่านมากว่า 26 ปี เมืองพริเพียตก็ยังคงเป็นที่ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตเข้าอาศัยอยู่ได้

ปี 2012 นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน 6 คนออกเดินทางไปท่องยุโรปตะวันออกแบบเอ็กสตรีม โดยเข้าไปในเมืองร้างพริเพียตที่ยูเครน โดย ยูริ ไกด์เถื่อนของพวกเขา ก็ได้พาข้ามเขตแดนที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ และพาพวกเขาเข้าไปในเมืองที่เคยเกิดหายนะกัมมันภาพรังสี

Chernobyl Diaries เป็นหนังที่เกิดจากไอเดียของ ออเรน เพลี ที่ทั้งเขียนบทและอำนวยการสร้าง โดยเขาประสบความสำเร็จมาจากหนังสยองขวัญเรียลลิตี้ Paranormal Activity ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกอยากสำรวจสิ่งที่ผิดปกติในบ้านของตัวเอง จนนำมาสร้างเป็นหนังที่ประสบความสำเร็ตถล่มทลาย และมีมาถึงสามภาคแล้ว

เพลี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ว่า “ไอเดียของเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมดูบล็อคภาพถ่ายของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ท่องไปในเมืองพริเพียตด้วยมอเตอร์ไซด์ นั่นคือครั้งแรกที่ผมรู้จักเมืองนี้ ที่ถูกทิ้งภายในระยะเวลาแค่คืนเดียว เป็นเหมือนเมืองร้างที่ยังมีร่องรอยของการอยู่อาศัยครบถ้วน ไม่แปรเปลี่ยนมากนักนอกเหนือจากกาลเวลาและสัตว์ป่า ผมคิดว่าที่นี่มันช่างดูน่าสะพรึงกลัวและงดงาม และมันก็น่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับหนังสยองขวัญที่สุด”

เพลี เล่าถึงการค้นคว้าหาข้อมูลว่า “การค้นคว้าของผมพบเรื่องราวของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ปฏิเสธที่จะอพยพ และพยายามใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ถึงแม้จะมีกัมมันตภาพรังสีที่อันตรายถึงชีวิต ด้วยเรื่องเล่าที่นั้น บวกกับสัตว์ป่าที่ครองเมืองโดยไม่มีมนุษย์เข้ามาวุ่นวาย มันทำให้ผมรู้สึกสงสัยว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีกลุ่มคนภายนอกอาศัยอยู่ในนี้”

การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์สตรีม เป็นช่องทางการตลาดที่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นการเที่ยวแบบเสี่ยงตาย ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขามือเปล่า การท่องไปในทะเลทราย หรือการสำรวจถ้ำใต้น้ำ โดยยังเกี่ยวกับกิจกรรมเสี่ยงๆอีก ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำกับฉลาม หรือกระโดดลงมาจากน้ำตก ยิ่งความเสี่ยงมีมากเท่าไหร่ อะดรินาลีนก็จะหลั่งออกมา และทำให้มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

เพลี เล่าต่อถึงการท่องเที่ยวที่มีอยู่จริงว่า “มันสำหรับคนที่ไม่ต้องการไปนั่งชิลตามทะเล หรือว่าเดินเล่นในพิพิธพันธ์ พวกเขาต้องการความตื่นเต้นในชีวิต พวกเขาต้องการเสี่ยงและทำเรื่องบ้าระห่ำ ผมเชื่อว่าคนอีก 99% บนโลกคิดว่าโชคดีที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไรแบบนั้นในชีวิต”

เพลี พูดถึงทัวร์ที่มีอยู่จริงว่า “พริเพียตถือว่าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โชบิลมากที่สุด และถือว่าเป็นสถานที่ในฝันของพวกชอบเสี่ยงตาย ถ้าคุณอยากเข้าไป คุณก็ต้องไปกับทัวร์ที่มีใบอนุญาต พวกเขาจะขับพาคุณเข้าไป ให้คุณเดินดูสภาพแวดล้อมสักสองสามชั่วโมง พวกไกด์จะรู้ว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ปลอดภันย และตรงไหนเป็นพื้นที่หวงห้าม และก็จะถือเครื่องวัดไกเกอร์ตลอดเวลา เพื่อทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครเข้าไปในพื้นที่ที่มีกัมมันตภาพรังสีสูง”

การเตรียมงานและแนวทางการสร้าง “นายแน่ใจเหรอว่ามีเพียงแค่พวกเรา”

เรื่องราวใน Chernobyl Diaries เริ่มต้นเมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวถูกยามรักษาความปลอดภัยท้องถิ่นบอกว่า ห้ามผ่านเนื่องจากเมืองพริเพียตปิดซ่อมแซม แต่ด้วยความมุ่งมั่นของไกด์ ที่อยากได้ค่าแรงโดยไม่ต้องคืน เขาก็พาทั้งหกคนไปในเส้นทางอีกทางที่ไม่มีด่าน หลังจากใช้เวลาทั้งวันในสำรวจเมืองที่ถูกทิ้งร้าง แต่แล้วพวกเขาก็พบว่ารถแวนที่ขับมาสตาร์ทไม่ติด ทำให้ไม่สามารถออกจากเมืองได้ และเมื่อความมืดเข้ามาแทนที่แสงสว่าง มันก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่ามีบางคน.. หรือบางสิ่งกำลังจับตาดูพวกเขา

เมื่อผู้เขียนบทและอำนวยการสร้าง ออเรน เพลี มีไอเดียที่ชัดเจนแล้ว เขาและผู้อำนวยการสร้าง ไบรอัน วิทเท็น ก็นำเอา แบร็ด พาร์คเกอร์ เข้ามารับหน้าที่กำกับ พร้อมกับทีมนักเขียนบท แคร์รี่ แวน ไดค์ และ เชน แวน ไดค์ เข้ามาช่วย เพลี ในการสร้างเรื่องราว

ผู้กำกับ พาร์คเกอร์ เล่าถึงการตัดสินใจเข้ามากำกับว่า “เมื่อ ออเรน อธิบายถึงไอเดียของเรื่อง Chernobyl Diaries ให้กับผม ผมก็รู้เลยว่านี้เป็นโปรเจ็คที่ผมต้องการทำ เพราะผมเองก็มีรูปภาพสถานที่มากมาย ที่ใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจะได้ไปถ่ายทำหนัง และเมืองพริเพียตก็เป็นอันดับต้นๆ พวกเราได้พูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น การกำหนดมู้ดและโทนของหนัง ซึ่งน่ายินดีที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมและ เพลี คิดเอาไว้”

พาร์คเกอร์ เล่าถึงแนวทางที่ต้องการทำว่า “ผมต้องการทำหนังที่จับความสนใจของคนดูตั้งแต่ต้นจบจบ เมืองพริเพียตในหนังของเราคือสถานที่ที่สยองที่สุด การอยู่ที่นี่คนเดียวตอนกลางคืนเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่การพบว่าตัวเองไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ก็น่าจะเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัวจนคุณไม่อยากจินตนาการถึง”

เพลี เป็นที่รู้จักจากการทำหนังสไตล์เรียลลิตี้ ทำให้เขาต้องการที่จะจับความสมจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมเสริมสร้างแนวทางอื่นๆเข้ามาอีกด้วย เขาอธิบายว่า “พวกเราตัดสินใจที่จะทำมันให้เหมือนวิดีโอล็อคของกลุ่มนักท่องเที่ยว ผมอยากให้ทีมนักแสดงคิดประโยคพูดกันสดๆตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบทสนทนาในหนังโดยส่วนมากแล้ว เกิดขึ้นจากการซักซ้อมก่อนหน้าถ่ายทำ ผมต้องการมันเกิดความรู้สึกสมจริง”

เพลี พูดถึงความตั้งใจในการทำให้สมจริงว่า “เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงหายนะที่เกิดขึ้นจริง ความสมจริงก็ถึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้กระทั่งรถที่ขับไปในตัวเมือง มันเป็นรถสไตล์รัสเซีย มันเป็นรถเก่าจริง ที่มืเครื่องยนต์อยู่ระหว่างคนขับกับคนนั่งหน้า ซึ่งคุณก็จะได้กลิ่นน้ำมันก๊าซตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้คุณรู้สึกได้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในโลกที่ตัวเองรู้จักอีกแล้ว”

นอกจากนั้น ทีมงานก็ยังสร้างความแปลกใจ ด้วยการให้ทีมนักแสดงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในหลายๆฉาก เพื่อที่จะได้จับเอาปฏิกิริยาตอบสนองจริงๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความน่ากลัวให้กับเหตุการณ์ โดยเทคนิกแบบนี้ผสมผสานกับตัวละครที่อยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ความกลัวถูกผลักดันจนสูงสุด และจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเอง เป็นอีกหนึ่งนักท่องเที่ยวที่กำลังอยู่ในเหตุการณ์

การถ่ายทำและเบื้องหลังการสร้าง

เพื่อพิ่มความสมจริง ทีมงานก็ได้ไปถ่ายทำกันในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ที่กรุงเบลเกรด เซอร์เบีย และนอกเมืองบูดาเปส ฮังการี โดยผู้ออกแบบงานสร้าง อเล็กซานดาร์ เดนิค ก็เผยว่า “มันสำคัญในการสร้างความแตกต่างของสองโลก ทั้งในโลกปัจจุบันที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเริ่มออกเดินทาง และโลกที่ถูกแช่แข็งเอาไว้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ถูกทิ้งร้างไว้รอให้ย่อยสลาย มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างสมจริงที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้คุณหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง เมื่อเดินทางไปถึงเมืองพริเพียต”

ผู้กำกับ แบรดลี่ย์ พาร์คเกอร์ พูดถึงงานสร้างว่า “อเล็กซานดาร์ ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม เขาทำให้โรงงานแทร็คเตอร์ที่เซอร์เบีย และฐานทัพอากาศเก่าที่ฮังการี กลายเป็นเมืองพริเพียตได้อย่างน่าทึ่ง มันอาจทำให้ผู้ชมหลายคนเชื่อจริงๆว่าพวกเราไปถ่ายทำกันในเมืองพริเพียตและเชอร์โนบิลจริงๆ”

การค้นคว้าของ เดนิค ทำให้เขาค้นพบหลักฐานของการใช้ชีวิตสมัยก่อน ที่ช่วยให้เขาสามารถสร้างภาพที่น่าทึ่งและน่ากลัวให้กับเรื่องราว เขาอธิบายว่า “อารมณ์ที่สร้างผลกระทบให้กับทุกคนมักมีรากฐานมาจากเด็ก ดังนั้นเพื่อที่จะกระตุ้นความรู้สึกเหล่านั้นในใจของเรา พวกเราจึงใส่พวกของเล่นและตุ๊กตาที่เน่าเปื่อย เสื้อผ้าเด็ก รถบั้มที่จอดนิ่ง และชิงช้าสวรรค์ที่ผุผังที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งโศกนาฏกรรมที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม”

เพื่อส่งเสริมงานสร้างและสถานที่ที่น่าทึ่ง ทีมงานเอฟเฟ็คและเมคอัพก็ยังช่วยเพิ่มความน่ากลัวขึ้นไปอีก มาร์ค ฟอร์เกอร์ ผู้ควบคุมเอฟเฟ็คเล่าว่า “โดยไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ มันยังมีสัตว์ป่าอย่างเช่นสุนัข ที่ประทังชีวิตด้วยการกินทุกอย่างที่หาได้ในเมือง ซึ่งแน่นอนก็รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกด้วย พวกเราใช้เอฟเฟ็คเพื่อทำให้พวกมันดูแปลกประหลาดจากสุนัขทั่วไป”

ออเรน เพลี พูดถึงงสุนัขที่ใช้ในเรื่องว่า “พวกเรามีสุนัขที่ถูกฝึกโดยหน่วยพิเศษของเซอร์เบีย ถึงแม้พวกมันจะมีผู้ดูแลที่เชี่ยวชาญ แต่พวกเราก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ดี พวกมันดูโหด ไม่ขี้เล่น และสามารถเข้าทำร้ายคุณได้ทุกเมื่อที่ต้องการ”

ฝูงสุนัขโหดไม่ใช่องค์ประกอบเดียวที่น่ากลัวในกองถ่าย เมื่อการถ่ายทำเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนาวที่สุด เพลี เล่าว่า “อากาศแทบทำให้ทุกอย่างเป็นน้ำแข็ง ทุกคนในกองพยายามรวมกลุ่มและอยู่รอบฮีตเตอร์ อย่างไรก็ตามทีมนักแสดงก็ต้องนอนอยู่บนพื้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ในอุณหภูมิที่ต่ำเหลือเลขตัวเดียว พวกเขามีความตั้งใจมาก”

หน้าที่ในการจับภาพตกเป็นของผู้กำกับภาพ มอร์เท็น โซเบิร์ก ที่ผู้กำกับ พาร์คเกอร์ กล่าวชื่นชมว่า “เขาถือเป็นศิลปินในการถ่ายทำด้วยกล้องแฮนด์เฮลอย่างแท้จริง ผมไม่แน่ใจว่าใครจะสามารถถ่ายทำฉากลองเทคในสถานที่ที่ลำบากและงดงามอย่างเช่นเขาได้อีกแล้ว”

เพลี ได้กล่าวชื่นชมทีมงานและทีมนักแสดงที่รวบรวมมาว่า “แบร็ด และ มอร์เท็น รวมถึงทีมงานทุกคนน่าทึ่งมาก พวกเขาเข้าใจถึงภาพและความรู้สึกที่เราต้องการ จากช่วงเวลาที่กลุ่มนักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปในพริเพียต พวกเราได้เห็นเท่ากับที่พวกเขาเห็น รู้เท่ากับที่พวกเขารู้ พวกเราเป็นเหมือนสมาชิกอีกหนึ่งคน และเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ แบร็ด เข้าใจถึงความรู้สึกสมจริงที่เราต้องการ และผมคิดว่าผู้ชมจะได้รับประสบการณ์ความสยองอย่างที่ตัวละครต้องเจอ”

เพลี กล่าวสรุปว่า “ความรู้สึกของความวิตกที่เกิดขึ้น เริ่มที่จะจมลงเข้าไปในหัวใจเมื่อพวกเขาพบว่าต้องติดอยู่ที่นี่ และไม่มีใครเข้ามาช่วยได้นอกจากต้องช่วยตัวเอง มันมีบางอย่างที่ต้องการตามล่าพวกเขา แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าอะไรหรือจะต้องกันตัวจากมันยังไง ทุกสิ่งทุกอย่างย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งผมก็คิดว่าในฐานะผู้ชม ความสนุกของมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ที่มา:  สหมงคลฟิล์ม
บันทึกภาพ:  สหมงคลฟิล์ม
นำเสนอโดย www.starupdate.com หากนำข่าวไปใช้กรุณาอ้างอิงถึง www.starupdate.com ด้วย
แชร์ข่าวนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง