เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จไปเป็นองค์ประธานในงานส่งเสริมธุรกิจบันเทิง 2558 หรือ ไทยไนท์ 2015 ในช่วงงาน American Film Market & Conference 2015 ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องแปซิฟิค โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ซานตาโมนิก้า เลอเมอริกอท โดยมีนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงพาณิชย์ , นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วย ภาคเอกชน รวมทั้งบุคคลในวงการภาพยนตร์นานาชาติเข้าร่วมรับเสด็จ
โอกาสนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงทอดพระเนตรการแสดงชุด “Chang (ช้าง)” อันสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของช้างกับคนไทย และช้างในภาพยนตร์ไทย โดยสองศิลปิน วรรณศักดิ์ ศิริหล้า นักแสดงเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ และ เก่ง ธชย ประทุมวรรณ นักร้องจากเวที The Voice
ในรูปแบบการขับร้องเพลงประกอบมัลติมีเดียและการเชิดหุ่นช้าง ก่อนนำเข้าสู่วีดิทัศน์ถ่ายทอดศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หลังจากนั้นทรงมีพระดำรัสเปิดงานกล่าวถึงภาพยนตร์ไทยในระดับนานาชาติ ความว่า
“ภาพยนตร์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศอันล้ำค่า ที่เผยให้เห็นภาพอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของเรา เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สวยงามราวกับภาพเขียน และเป็นรูปแบบของการสื่อสารที่สื่อได้ไกลไปทั่วทั้งโลก ในประเทศไทยของเรามีผู้กำกับหลายท่านที่ได้เคยนำเสนอความสวยงามเหล่านี้ไว้ในภาพยนตร์ ทั้งยังเป็นผู้กำกับ ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติอีกด้วย อาทิ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ กับรางวัลปาล์มทองคำ อันทรงเกียรติที่สุดรางวัลหนึ่ง , เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน เทศกาลภาพยนตร์ทั้งที่เบอร์ลินและที่ซีแอทเทิล หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง นวพล ธรรมรงค์รัตนฤกษ์ จากภาพยนตร์เรื่อง 36 , นิธิวัฒน์ ธราธร จากภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา และ เมษ ธราธร จากภาพยนตร์เรื่อง ไอฟาย…แต๊งกิ้ว…เลิฟยู ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงขจรขจายให้นานาชาติได้รู้จักไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
นอกจากนี้ ทรงมีพระดำรัสกล่าวชื่นชมบุคลากรไทยซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดภาพยนตร์โลก ความว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยมีทักษะในการทำงานสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แม้กระทั่งผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกาจำนวนหนึ่งมักจะ เลือกคนไทยเป็นทีมงานผลิตภาพยนตร์ อย่างล่าสุดเรื่อง No Escape ที่เพิ่งจะฉายในเดือนสิงหาคม , เรื่อง Gold ที่กำกับโดย สตีเฟ่น กากัน เป็นต้น และด้วยความที่ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ที่ครบครัน มีบุคลากรที่ความมีเชี่ยวชาญ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงทำให้มีผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลกต่างให้ความสนใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ผลิตภาพยนตร์มายาวนานกว่า 30 ปี แล้ว ซึ่งในปีนี้มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะมีรายได้สูงมากขึ้นกว่าทุกปี จากจำนวนผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยมากขึ้น”
และในขณะนี้ ประเทศไทยเตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ในลักษณะการคืนเงินลงทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย (Cash Rebate) สูงสุดร้อยละ 20 สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ หรือ ละครโทรทัศน์ ที่มีการนำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับสิทธิ์ตามมาตรการคืนเงินในอัตราร้อยละ 15 และหากมีการใช้บริการกระบวนการหลังการถ่ายทำในประเทศไทย (Post Production) ด้วย จะได้สิทธิ์คืนเงินเพิ่มเติมอีกร้อยละ 5 โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จและสามารถเริ่มใช้ได้ภายในปี พ.ศ.2560
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ว่า “ในปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2014 มีจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องยาว โฆษณา สารคดี และโปรดักชั่นต่างๆ ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยสูงถึง 631 เรื่อง โดยมีมูลค่ามากกว่า 60 ล้านดอลลาร์ และสำหรับในปีนี้ สถิติได้เติบโตขึ้นเนื่องจากมูลค่าการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยถึงกลางปี 2015 นี้ มีมูลค่าสูงมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์แล้ว และคาดว่าจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสิ้นปี โดยส่วนใหญ่ ประเทศที่สนใจมาถ่ายทำสูงสุดสามอันดับได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย และ ประเทศต่างๆ จากยุโรป สำหรับภาพยนตร์ไทยนั้น ในปี 2014 มีภาพยนตร์ไทยออกฉายกว่า 50 เรื่อง โดยภาพยนตร์ที่สร้างรายได้สูงสุดนั้น มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ระหว่างปี 2014-2015 ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง และบุคลากรของวงการภาพยนตร์หลายคนก็ยังได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายเทศกาลอีกด้วย โดยงานไทยไนท์จะเป็นงานที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติมากยิ่งขึ้น”
สำหรับในงาน American Film Market & Conference 2015 นี้ จัดเป็นครั้งที่ 36 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดให้มีกิจกรรมการจับคู่เจรจาทางการค้า เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและนานาชาติ ระหว่างวันที่ 4 – 11 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องโทแพนก้า ชั้น 7 โรงแรมโลว์ ซานต้า โมนิก้า บีช มีผู้ประกอบการไทยในสายภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 ราย ได้แก่ บริษัท เบเนโทน (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่น จำกัด , บริษัท จีทูดี จำกัด , บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด , บริษัท กลองชัย ภาพยนตร์ จำกัด , บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด , บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด , บริษัท อิเมจิแมกซ์ จำกัด , บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เดอะ มั๊งค์ สตูดิโอ จำกัด และยังมีผู้ประกอบการไทยที่เดินทางไปเข้าร่วมงานเองอีก 2 ราย คือ บริษัท สหมงคล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท ไฟว์ สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกิจกรรมในส่วนของ Information Stand เพื่อให้ข้อมูลในลักษณะ One Stop Service ในการเผยแพร่ศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสำหรับผู้ที่สนใจร่วมมือกับไทยในการผลิตภาพยนตร์ ถ่ายทำในประเทศไทย จ้างไทยผลิต และซื้อลิขสิทธ์ของไทย ซึ่งกิจกรรมตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เอเทรียม ชั้น 5 โรงแรม โลว์ ซานต้า โมนิก้า บีช
ทั้งนี้ คาดว่าการจัดงาน “ไทยไนท์ 2015” และการเจรจาธุรกิจ จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการ ขยายตลาดของธุรกิจบันเทิงไทยในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลกให้กับผู้ประกอบการไทย ทำให้เกิดการซื้อขาย ผลงาน รับจ้างผลิต การร่วมลงทุนส่งผลให้เพิ่มมูลค่าการส่งออกและการขยายตัวของรายได้ในอุตสาหกรรม บันเทิงไทยเป็นอย่างดี
บันทึกภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์