เรื่องย่อ
เรื่องราวของเด็กหนุ่มจากเมืองดับบลิน ที่ได้พบกับหญิงสาวสุดสวย และเพื่อพิชิตใจสาวคนนี้เขาจึงได้เริ่มตั้งวงดนตรี แต่งเพลง ถ่ายมิวสิควีดีโอ เพื่อถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกที่เขามีให้ต่อเธอ
เกร็ดภาพยนตร์
– ผลงานลำดับถัดไปของ จอห์น คาร์นีย์ ที่สร้างปรากฏการณ์ จากภาพยนตร์ยอดฮิตอย่าง Begin Again และ Once มาแล้ว
กว่าจะมาเป็นหนังเรื่องนี้
“ผมต้องการจะทำหนังอะไรสักอย่างที่มันสะท้อนตัวตนของผม ผมไม่ได้อยากทำแค่ภาพยนตร์เพลงแต่อยากให้มันมีอะไรมากกว่านั้น” จอห์น คาร์นีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าว
จุดเริ่มต้นของ Sing Street นั้นย้อนกลับไปหลายปีมันคือชีวิตวัยรุ่นของผู้กำกับในช่วงปี 1980 ที่เมือง ดับลิน จอห์น คาร์นีย์ เขาได้มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของไอร์แลนด์ และโดนย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนเอกชน ไปอยู่โรงเรียนรัฐบาล ซึ่งมันกลายเป็นไอเดียที่เขาอยากจะทำภาพยนตร์เพลง “จากช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขา”
การได้ร่วมงานกับ แอนโทนี เบรกแมน โปรดิวเซอร์ จากเรื่อง Begin Again ที่นิวยอร์ก พวกเขาได้พูดคุยกันเกี่ยวกับไอเดียในการจะทำหนังที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่เขาเติบโตที่เมือง ดับลิน ระหว่างที่พวกเขากำลังจิบกาแฟกันอยู่ มันคือช่วงที่เขาอยู่ในห้องตัดต่อ แล้ว จอห์น ก็เล่าให้ แอนโทนีฟัง ถึงไอเดีย Sing Street “จุดเริ่มต้นของหนังย้อนไปประมาณ 20-30 ปี ด้วยความที่องค์ประกอบของหนังเรื่องนี้มาจากประสบการณ์ในวัยรุ่นของ จอห์น” แอนโทนี กล่าว “เขามาจากโรงเรียนเอกชน และต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลอยู่เป็นปี และต้องผ่านเรื่องราวมากมายซึ่งคล้ายคลึงกับในตัวละครของหนังเรื่องนี้ที่ต้องเผชิญ จากที่เคยอยู่ในโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีกลายมาเป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างยากในการใช้ชีวิตและการปรับตัว”
“เขาบอกกับผมระหว่างที่เรากำลังจิบกาแฟ ซึ่งในความเป็นจริง มันค่อนข้างใกล้เคียงกับในหนัง มันคือเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่พ่อของเขาตกงาน และสภาพการเงินค่อนข้างจะลำบากขึ้น เขาถูกย้ายจากโรงเรียนเอกชนไปอยู่โรงเรียนรัฐบาลซึ่งเป็นที่ที่เขาโดนรังแกและถูกเอาเปรียบ เขาเลยคิดที่จะตั้งวงดนตรีขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้ตัวเขามีจุดยืนในโรงเรียนและเพื่อที่จะดึงดูดความสนใจจากหญิงสาวที่ตัวของเขาเองไม่สามารถจะดึงดูดความสนใจได้”
ซึ่งเรื่องก็จะดำเนินไปทั้งในเรื่องขององค์ประกอบที่มีความโรแมนติกและโลกของเสียงดนตรีในยุค 1980 ของอังกฤษ Sing Street จะนำเสนอแง่มุมอันใสซื่อและมุมมองการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในยุคนั้น
สำหรับโปรดิวเซอร์เอง แอนโทนี มีไอเดียที่สดใหม่ และความโรแมนติกแบบใสๆ ระหว่างนักแสดงนำทั้งสองคน มันคือความสอดคล้องลงตัวที่ตัวของเขาเองไม่ได้เห็นในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆมานานมากแล้ว “ความสัมพันธ์ระหว่าง คอเนอร์ และ ราฟินา มันคือความน่าสนใจเพราะมันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เธอเป็นผู้หญิงที่สวยมากและก็มีอายุมากกว่า มีความลึกลับซับซ้อน น่าค้นหา มีชีวิตเป็นของตัวเอง ในขณะที่เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่กำลังพยายามตั้งวงดนตรี ซึ่งเมื่อเขาพยายามเข้าหาเธอ เราก็เห็นได้ชัดเลยว่าเขากำลังพยายามเล่นของสูงอยู่”
นอกจากเรื่องโรแมนติกแล้ว จอห์นเองก็ยังโฟกัสไปที่เรื่องความซับซ้อนของชีวิตคู่ที่ต้องแตกหักกัน ในช่วงนั้นสำหรับประเทศไอร์แลนด์ การหย่าร้างยังไม่อนุญาตให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเมื่อความสัมพันธ์ของพ่อแม่ของเขาได้เปลี่ยนไป ผลกระทบที่มีต่อเด็กจึงเกิดขึ้น แอนโทนี กล่าวว่า “มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างลำบากใจมากในขณะนั้น พ่อและแม่ คอเนอร์ แต่งงานกันเร็วเกินไป ด้วยเหตุและผลที่ผิดๆ และพวกเขาก็ไม่สามารถจะแยกกันอยู่ได้ เพราะในช่วงเวลานั้นมันยากที่จะหย่าร้างกัน”
“พวกเขาถูกล็อคไว้ด้วยกันด้วยคำว่าคู่สมรส แต่พวกเขาไม่มีความสุขที่จะอยู่ด้วยกันอีกต่อไป ซึ่งด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยโอเคในครอบครัวและส่งผลต่อลูกๆของเขา และส่งผลต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนัง”
สำหรับผู้กำกับ จอห์น คาร์นีย์ นั้น หนังเรื่องนี้ยังนำเสนอความแตกต่างระหว่าง ไอร์แลนด์ กับ อังกฤษ, ดับลิน กับ ลอนดอน และความปลอดภัยระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับจอห์น ก็คือความแตกต่างระหว่าง เด็กหนุ่มผู้ซึ่งคิดว่าปัญหาต่างๆที่เขามีนั้นมันเป็นเรื่องเล็กน้อย “มันเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายระหว่างการย้ายเข้าไปอยู่ในสังคมที่แตกต่างออกไปจากที่เคยมี จากที่เคยมีเงินใช้สบายๆ ต้องมาลำบาก จากที่เคยใช้ชีวิตที่หรูหรา มองคนจากเปลือกนอกก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิตใหม่”
จากการที่ได้กำกับภาพยนตร์เพลงและคว้ารางวัลจากเวทีออสการ์ในเรื่อง Once และ Begin Again ทำให้ จอห์น รู้สึกว่านี่ถึงเวลาแล้วที่เขาจะทำภาพยนตร์เพลงที่มีความเป็นตัวเองมากกว่าเดิม “บางอย่างที่เกี่ยวกับตัวตนของเขาจริงๆ”
“ผมไม่ได้อยากทำแค่ภาพยนตร์เพลง แต่อยากให้มันมีอะไรมากกว่านั้น ผมอยากลองทำและค้นหาอะไรบางอย่างในชีวิตที่ตัวเองสนใจที่อยากจะทำและอยากจะเล่าออกมาจริงๆ ผมอยากที่จะให้ภาพยนตร์ของผมเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมและเป็นตัวตนของผมมากที่สุด”
เกี่ยวกับการคัดเลือกนักแสดง
แอนโทนี ค่อนข้างจะให้ความสำคัญว่าทีมผู้สร้างนั้นจะหานักแสดงที่มีความสามารถพอที่จะทำให้หนังเรื่องนี้ติดอันดับหนังทำเงินให้ได้ภายในสัปดาห์แรกที่เข้าฉายอย่างไร
“ถ้าหากคุณเอานักแสดงที่มีชื่ออยู่แล้วและเคยมีผลงานมาก่อน คุณรู้ดีว่าเขามีศักยภาพที่จะทำให้หนังดังได้อย่างแน่นอน เพราะพวกเขาเคยทำมันมาก่อนแล้ว แต่เด็กๆเหล่านี้ไม่เคยเล่นหนังมาก่อน และตอนนี้ต้องมาแสดงและอยู่ในหนังยาวกว่า 90 นาที มันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก” แอนโทนีกล่าว
ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ พอล ทริจบิทส์ กล่าว “คุณต้องเชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่มีความสามารถและจะสามารถแสดงมันออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม”
ตัวของพอล เองเคยมีประสบการณ์คล้ายๆกัน เมื่อเขาเป็น ผู้อำนวยการสร้างให้กับหนังของ แอนเดรีย อาร์นอล์ด ที่คว้ารางวัลจาก คานส์ และ BAFTA จากเรื่อง Fish Tank “เมื่อแอนเดรีย มองหาเด็กผู้หญิงที่จะมารับบทแสดงนำในเรื่อง เธอใช้เวลากว่า 9 เดือน ซึ่งถ้าหากคุณสามารถหาคนที่สามารถจะมาเล่น และทำให้เราทึ่งในความสามารถนั้นได้ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีคนแบบนี้อีกถ้าเราตั้งใจหาจริงๆ”
การค้นหานักแสดงครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ ทางทีมผู้สร้างตัดสินใจที่จะเลือกหานักแสดงหน้าใหม่ที่มีความสามารถจากทั่วทุกมุมของไอร์แลนด์ ทีมงานใช้เวลาในการเฟ้นหานักแสดงนานกว่า 6 เดือนเพื่อหาคนมารับบท คอเนอร์ และ ราฟินา และเด็กอื่นๆที่จะมาร่วมวงเป็นนักดนตรีกับคอเนอร์
จอห์น คาร์นีย์ ใช้เมือง ดับลิน เป็นที่แคสติ้งหานักแสดง ซึ่งมีคนมาร่วมแคสกว่าพันคน “การแคสติ้งเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะผมอยากหานักแสดงหน้าใหม่เป็นอันดับแรกก่อน ผมอยากได้นักแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติ เราเลยเปิดรับสมัครนักแสดง และก็เฟ้นหานักแสดงจากทั่วประเทศที่สามารถเล่นละครและเล่นดนตรีได้”
“มันคือความมหัศจรรย์ที่นักแสดงที่ได้มานั้นคือคนที่เรารู้สึกประทับใจจากการเห็นปิ๊งแรก จากเด็กๆกว่าพันคน เด็กกลุ่มนี้คือคนที่มีของ จากนั้นเราก็เริ่มเขียนบทจากตัวนักแสดงเองให้เข้ากับบทของเรื่อง แล้วเราก็เริ่มแคสกันยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการให้คนนั้นมาเล่นกับคนนี้ เอาเด็กคนนี้สลับไปเล่นกับเด็กคนนั้น”
“จอห์นได้ส่งรูปบรรยากาศวันแคสมาให้ผมดูตอนนั้นผมอยู่ที่อเมริกา ภาพบรรยากาศเด็กๆที่มารอแคสติ้งพร้อมกับเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ ไม้กลอง พวกเขาต้องร้องเพลง ถูกสัมภาษณ์ และให้แสดงความสามารถในการแสดงละครผ่านซีนต่างๆที่เรามี ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าพวกเขาสามารถจะร้องและแสดงละครได้หรือไม่ และนี่ทำให้เราได้เฟอร์เดีย และคนอื่นๆในวงมารับบท” แอนโทนี กล่าว
เฟอร์เดีย วอลช์-พีลโล มาจากครอบครัวนักดนตรี มีพื้นหลังมาจากนักดนตรีโอเปรา และนักดนตรีไอริช โฟล์ค เขาเป็นนักร้องเสียง โซปราโน่ และเคยทัวร์ละครโอเปรา เรื่อง The Magic Flute และยังมีความสามารถทางด้านเปียโน
“เมื่อผมไปถึงที่นั้น คิวก็ยาวมากแล้ว” เฟอร์เดีย กล่าว “ผมไปกับแม่ และก็บอกกับแม่ว่าอยากกลับบ้านแล้วเพราะไม่อยากต่อคิวรอกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งกว่าจะได้แคสผมก็ต้องต่อคิวรอเกือบ 5 ชั่วโมง ผมทำการออดิชัน และร้องเพลง ผมรู้สึกว่าผมทำมันได้ดีนะ หลังจากนั้นผมก็โดนเรียกมาแคสอีกที่โรงแรม และได้เป็น 6 คนสุดท้ายที่จะได้รับบทแสดง มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากๆ เราต้องแสดงคู่กับเด็กผู้หญิงหลายๆคน แล้วก็ไม่ได้รับการติดต่อจากทีมงานสักระยะหนึ่ง แล้วผมก็ไปเที่ยวสเปนกับครอบครัว ระหว่างที่เที่ยวอยู่นั้น ผมได้รับการติดต่องานทีมงานให้กลับมาอีกครั้ง ผมต้องรีบหาไฟล์ทกลับมา ซึ่งในที่สุดแล้ว มันเป็นอะไรที่คุ้มค่ามากๆ”
จอห์น รู้สึกโล่งใจกับการค้นพบนักแสดงของเขา “เฟอร์เดีย เป็นเด็กหนุ่มที่สดใส และเหตุผลที่ผมเลือกเขา นั่นก็คือทุกครั้งที่เขากลับมาแคสในแต่ละครั้ง เขาทำให้เห็นถึงความพัฒนาในการแสดงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เขาไปแล้วกลับมาอีกเขาทำการบ้านมาอย่างดีตามที่ผมเคยบอก ซึ่งมันทำให้เห็นอะไรบางอย่างในตัวเขาที่เขาเหมาะกับหนังเรื่องนี้ มันคือความยากอย่างหนึ่งนะของเด็กวัยนี้ที่ยังไม่ใช่ชายหนุ่มซะทีเดียว ซึ่งเฟอร์เดีย มีทุกอย่างตามที่เรามองหา เขาดูดี มีเสียงร้องทีไพเราะ มีอารณ์ทางการแสดงที่ดีเยี่ยม เขาเป็นเด็กเก่ง”
ถึงแม้ว่า จอห์น เองยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานกับเด็กช่วงอายุประมาณนี้ แต่จากผลงานการกำกับที่ผ่านมาเขาชอบกำกับนักแสดงหน้าใหม่ๆ ทั้งพ่อของเขาเองที่เขาเอามาเล่นในหนังที่เขาเคยทำ หรือไม่ว่าจะเป็น อดัม เลวีน ที่นำมาเล่นคู่กับนักแสดงในเรื่อง Begin Again เขารู้สึกว่ามันเป็นการผสมที่ลงตัว และเขาก็คิดว่าคนดูน่าจะชอบดูนักแสดงที่ไม่เคยแสดงมาก่อนว่าพวกเขาจะแสดงออกมาเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ จอห์น ยังดึงเอานักแสดงใหญ่ของ ไอร์แลนด์ มาเล่นในเรื่องนี้ด้วย ไอแดน กิลเลน, มาเรีย ดอล์ล เคนเนดี้ และ นักแสดงฮอลลีวูด อย่าง แจ็ค เรย์นอร์
เกี่ยวกับงานสร้าง
เมื่อทุกอย่างลงตัวอยู่แล้ว ผู้กำกับ จอห์น คาร์นีย์ ก็อยากจะทำทุกอย่างให้ลื่นไหลและเป็นกันเอง ผู้กำกับภาพ คือ ยารอน ออร์บาทช์ เคยร่วมงานกับ จอห์น ใน Begin Again ซึ่งตอนนั้นเขาดูเรื่องสถานที่ถ่ายทำ เนรมิต นิวยอร์ค ให้กลายเป็นฉากเพลงรัก และดูเรื่องแสงต่างๆ ของเรื่อง
จอห์น กล่าวว่า “มันเป็นอะไรที่สนุกมากที่ได้ทำงานร่วมกับ ยารอน เขามาจากอิสราเอล อาศัยอยู่ที่นิวยอร์ค เขาเคยทำงานให้กับไอริชกว่า 50 เรื่อง และผมก็รู้สึกดีมากที่ไม่ได้ผู้กำกับภาพเป็นชาวไอร์แลนด์ เพราะตัวยารอนเขาเป็นคนที่สามารถให้มุมมองที่แสนวิเศษมากตอนทำเรื่อง Begin Again และในครั้งนี้ที่ดับลิน เขาก็ให้ความน่าสนใจในเรื่องแสงที่ปรากฏในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ”
แรงบันดาลใจมาจาก โปรแกรมทีวี ที่เขาเคยดูตอนเด็กๆ ที่ดึงเอาความป๊อป มาบวกผสมกับความเป็นยุค 80 ในไอร์แลนด์ ซึ่งทางผู้กำกับได้ให้คำอธิบายสั้นๆ ไว้ว่า “มันคือสีสัน ความหัศจรรย์ของโลกในยุคของป๊อปวิดีโอ ด้วยความที่ผมโตมากับการดูรายการทีวีที่มีความป๊อปคัลเจอร์สูงมากๆ เต็มไปด้วยจินตนาการ ทำให้ผมใฝ่ฝันว่าลอนดอนต้องเป็นอะไรแบบที่เราพบเห็นในทีวี ไม่ใช่แค่ลอนดอนแต่ทั่วทั้งโลก ความแปลกใหม่ของทรงผม ความแปลกใหม่ทางด้านเพศ ความเป็นอิสระ ความบ้าบอต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราดึงมาใช้ในเรื่องนี้ผ่านมุมมองของ คอเนอร์ เพราะในดับลินนั้นบางอย่างยังถูกปิดกั้นอยู่ เราเลยเลือกที่จะนำเสนอโลกความป๊อป ความคิดแบบยุค 80 ความคิดในมุมมองใหม่และทันสมัย ผ่านสายตาของ คอเนอร์”
ยารอนเลือกวิธีการถ่ายคล้ายกับที่เขาได้ทำใน Begin Again “เรายังต้องการให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แปลกใหม่ มีความผสมผสานระหว่าง Once และ Begin Again เราเลยเลือกที่จะใช้การถ่ายมือ (Handheld) ดอลลี่ เราหลีกเลี่ยงการใช้ขาตั้งกล้อง และใช้สไตล์การถ่ายแบบถ่ายมุมกว้าง มากกว่าจะถ่ายแบบมุมแคบ “และเพื่อให้คงคอนเซปต์ของการกำกับภาพ จอห์นจะบรีฟนักแสดงเพียงสั้นๆว่าทำอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากลืมบทหรืออะไรก็ปล่อยให้มันไหลไป เพื่อที่จะได้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนของ ยารอน เองก็แค่ถือกล้องแล้วลองวางแผนดู แล้วก็จะเจอว่าควรจะจับและโฟกัสอะไรตรงไหนนี่คือวิธีทำงานของเรา”
เพราะเป็นการทำงานแบบ จอห์น เขายอมที่จะให้อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในฉาก เขาไม่มีการมาร์คจุดว่าใครจะยืนตรงไหน เขาปล่อยฟรีให้นักแสดงรู้สึกและหาจุดยืนของตัวเอง เขาทำแค่เพียงไกด์ไลน์ แล้วปล่อยให้พวกเขาแสดงไป ตามที่พวกเขารู้สึก “ผมชอบที่จะปล่อยฟรีบ้างให้นักแสดงได้ลองอิมโพรไวซ์อะไรใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องพูดประโยคตรงกับสคริปต์ทุกตัวอักษร มันเป็นอะไรที่สนุกดี ที่จะได้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจและสื่อสารอะไรออกมา ผมมักจะให้กำลังใจเด็กๆ เสมอ ไม่เป็นไรถ้าหากเขาลืมสคริปต์ที่ท่องมา ปล่อยให้มันเป็นไป แล้วลองอิมโพรไวซ์อะไรออกมาแทน มันทำให้พวกเขารู้สึกสนุกขึ้นและรู้สึกว่าบทนี้เป็นของเขาจริงๆ” จอห์นกล่าว
ในส่วนของ การออกแบบงานสร้าง เขาได้ อลัน แมคโดนอลด์ (ผลงานที่ผ่านมาของเขา Love is the Devil, The Queen, Philomena) การทำให้ ดับลิน กลายเป็น ยุค 80 อีกครั้งเป็นอะไรที่ท้าทายเขาเช่นกัน เขาเริ่มจากการค้นหาข้อมูล และแตกคาแรคเตอร์ตัวละคร เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อเสื้อผ้า และสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ พื้นหลังครอบครัวเป็นอย่างไร มาจากไหน ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่ไม่กี่เดือนเขาก็ออกแบบโปรดักชั่นออกมา กว่า 50 เปอร์เซนต์ เขาเลือกหาสถานที่ที่ใช่สำหรับเรื่องนี้ เขาเลือกที่จะหาสถานที่จริงมากกว่าที่จะเซ็ทมันขึ้นมาแล้วถ่ายในสตูดิโอ และเขาก็เชื่อว่าใน ดับลิน ยังมีสถานที่ต่างๆ ที่ยังคงมีความเป็นยุค 80 อยู่แน่นอน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนก็ยังคงมีอยู่ในดับลิน แต่เปลี่ยนกลายเป็นโบสถ์โรงเรียนคริสเตียนไป แต่ถามว่าเปลี่ยนไปจากโรงเรียนที่ จอห์น เคยเรียนไหมมันแทบไม่เปลี่ยนเลย
เกี่ยวกับเพลง
ผู้เขียนบทและกำกับ จอห์น คาร์นีย์ ต้องการที่จะหานักแต่งเพลงที่สามารถนำกลิ่นอายความเป็นยุค 80 กลับมาให้ได้ เขาได้เลือกให้ แกรี่ คลาร์ค มารับหน้าที่แต่งเพลงให้กับเรื่องนี้
แกรี่ เคยโด่งดังในเพลงยอดฮิตของเขาคือ Mary’s Prayer ที่เขาแต่งให้กับวงของเขา Danny Wilson ในปี 1987 ซึ่งเพลงนี้ได้ถูกปล่อยออกมาถึง สามครั้ง ในอังกฤษระหว่างปี 1988 และ 1989 ก่อนที่จะขึ้นติดอันดับที่ 3 ใน UK Charts แต่ที่ไอร์แลนด์นั้นเพลงนี้ดังตั้งแต่ครั้งแรกที่ปล่อยออกมาและขึ้นไปเป็นอันดับ 5 ของชาร์ต
ด้วยความที่ จอห์น เองอยากให้เกิดความแปลกใหม่ในหนัง เพราะมันถูกเซตให้อยู่ในยุค 80 เขาอยากได้ใครที่เคยเขียนเพลงในช่วงยุคนั้น และเขาเองก็ชอบเพลง Mary’s Prayer เขาจึงเลือกให้ แกรี่ คลาร์ค มารับหน้าที่เขียนเพลง และช่วยเขียนเพลงที่เขาเคยเขียนไว้ให้จบ พวกเขาร่วมกันทำเพลงอยู่หลายเดือนก่อนจะเริ่มถ่ายทำ ทั้งอัดเพลงที่เอานักดนตรีของไอร์แลนด์มาเล่นอัดให้ดูเล่นแย่ๆ ในตอนต้นตามแบบตัวละครในหนัง และในฐานะนักแสดงนำอย่าง เฟอร์เดียร์ เองที่ต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วงในการซ้อมร้องเพลง ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ามันเป็นอะไรที่หนักพอสมควร เขาต้องซ้อมเสียงอาทิตย์ละครั้ง เพื่อเตรียมเข้าห้องอัดและร้องเพลงทั้งวัน ซึ่งเขาเองก็ได้เรียนรู้อะไรมาเยอะจากการเข้าห้องอัดครั้งนั้น นอกจากนี้ทางด้านนักแสดงนำหญิงอย่าง ลูซี่ บอยน์ตัน เองก็ต้องทำการบ้านอย่างหนักเช่นกันเพื่อให้เข้าใจบริบทเพลงของยุค 80 หลายครั้งที่เธอเข้าฉาก แล้วจอห์น พยายามหาตัวอย่างให้เธอได้เข้าใจถึงเพลง ความหมายของยุค 80 แต่เธอก็ไม่สามารถจะนึกออกได้เพราะเธอเองก็เกิดไม่ทันยุคนั้นซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่ชวนหัวเราะให้กับทีมงาน
ทางด้านนักแสดงเด็กคนอื่นๆ มันคือการได้เรียนรู้โลกของเพลงยุค 80 การแต่งตัว การเล่นและแสดงดนตรีของคนในยุคนั้นทำให้พวกเขาได้เห็นภาพและพยายามหาข้อมูลมาเพื่อเป็นองค์ประกอบช่วยในการแสดง
สุนทรียของยุค 80
เมือง ดับลิน ในยุค 1980 นั้นกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจครั้งสำคัญทำให้หลายๆครอบครัวประสบปัญหาตามๆกันเพื่อที่จะรักษาสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ผ่านพ้นไป แต่ถึงกระนั้น จอห์น คาร์นีย์ ก็เลือกที่จะเลี่ยงนำเสนอสภาพนั้นโดยตรง เขาโฟกัสไปที่สภาพความเป็นอยู่ของเด็กวัยรุ่นในช่วงเวลานั้น และพ่อแม่ของเด็กมากกว่า
การหย่าร้างกันในไอร์แลนด์ตอนนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงและยังไม่ได้รับอนุญาต เขาอยากนำเสนอสภาพครอบครัวที่ประสบปัญหานี้ออกมา ว่าส่งผลต่อเด็กๆอย่างไร “ผมไม่ได้อยากจะนำเสนอความเลวร้ายของเศรษฐกิจของดับลินในช่วงนั้น แต่อยากเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในครอบครัวมากกว่า สภาพครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่อยากแยกทางกันแต่ก็หย่าร้างกันไม่ได้ นำเสนอชีวิตวัยรุ่นของเด็กในช่วงเวลานั้นที่จะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร” จอห์นกล่าว
ในขณะที่ เอเดน กิลเลน หนึ่งในนักแสดงนำ กล่าวถึงเรื่องการหย่าร้างในตอนนั้นว่า” มีหลายคู่เลยนะที่ยังต้องอยู่ด้วยกันทั้งๆที่อยากจะหย่ากันเต็มที่ แต่ด้วยสถานะทางครอบครัว หน้าตาทางสังคมทำให้พวกเขายังต้องทนอยู่ด้วยกัน พ่อแม่กับลูกจะไม่ค่อยคุยกันโดยตรงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยความที่วัยต่างกันของพ่อแม่และลูก ทำให้พวกเขาไม่ค่อยเข้าใจกัน แตกต่างกับสมัยนี้ ที่พวกพ่อแม่และลูกดูเหมือนจะสนิทกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรสมัยนี้เด็กก็ติดโซเชียลตลอดเวลา พวกเขามีแอปต่างๆไว้โหลดคุยกัน แต่มันก็คนละฟีลกันอยู่ดี”
ทางด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย ทิเซียนา คอร์วิเซียรี กล่าวว่า “หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพหลายๆอย่างของยุคนั้น มันทำให้ฉันนึกถึงตัวเองตอนที่อายุ 16 ปี ในช่วงต้นยุค 80 หนังเรื่องนี้สำหรับฉันมันบอกได้หมดเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนั้นบ้าง อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำคือ UK ทุกอย่างดูดีดูสนุกไปหมด ในขณะที่ทางด้าน ดับลิน นั้น เราได้แต่ติดตามดูและอยากให้ที่นี่เป็นแบบนั้นบ้าง ทางด้านการแต่งตัวในยุคนั้น เราไม่มีเงินมากมายจะไปซื้อเสื้อผ้าหรอก สมัยนั้นเราจะไปตามร้านบริจาค หรือเสื้อผ้ามือสอง แล้วหามาดัดแปลงแต่งให้ดูฟังกี้ๆ สนุกๆ หาเสื้อผ้าเก่าๆของพ่อแม่จากยุค 70 มาปรับแต่งให้ดูมีสไตล์กันมากขึ้นตามแต่ไอเดียที่เราคิดได้
สำหรับ โปรดักชัน ดีไซน์เนอร์ อลัน แมคโดนอลด์ เองนั้น ตอนนั้น เขาเองก็เพิ่งจะ 13-14 เขาบ้า เดวิด โบวี่ และก็เป็นหนึ่งในอิทธิพลต่อตัวเขาเองที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีผลต่อการแต่งตัวของเขา ทำสีผม ซึ่งมันคือสิ่งที่ จอห์น นำเสนอให้เรารับรู้ได้ในเรื่องนี้ เขาพยายามมองหาส่วนผสมต่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาพยายามหาตัวตนของตัวเอง เพลงก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับวัยรุ่นในตอนนั้นที่มีอิทธิพลในความคิด เพราะในสมัยนั้นไม่มีนิตยสารแบบปัจจุบัน ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างง่ายได้ มีเพลงมิวสิควีดีโอ นักร้อง ที่เป็นแรงบันดาลใจเท่านั้น
ทางด้านผู้กำกับภาพยนตร์ภาพ ยารอล “จอห์น ส่งวิดีโอในยุค 80 มาให้ผมดูเยอะมาก เราดูสไตล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ตั้งแต่มิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์ ซึ่งตอนนั้นมันเป็นวงการที่ยิ่งใหญ่มากที่เดียว และผมก็นำมาผสมผสานเข้า จากตอนแรกที่พวกเด็กๆ ทำมิวสิควิดีโอกันเองนั้น ก็เริ่มจากการถ่ายทำจากกล้องวิดีโอเล็กๆที่มีอยู่ ทำให้วิดีโออันแรกของพวกเขานั้นสั่นตลอดเวลา ไม่โฟกัส เหมือนเด็กทำจริงๆ พอมิวสิควิดีโอที่สองพวกเขาเริ่มได้เรียนรู้ แล้วก็ทำมันให้ดีขึ้น จนมิวสิควิดีโอที่สามเราถึงเลือกใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ถ่าย ซึ่งมันก็ยังคงมีกลิ่นอายของยุค 80 อยู่”
มันเป็นเรื่องราวทั่วๆไป ที่ดีที่สุดและก็เป็นอะไรที่เฉพาะตัวที่สุด
แอนโทนี โปรดิวเซอร์ เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ หนังเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมรู้สึกไปกับหนังนั่นก็คือมันเป็นยุคที่ทุกคนเคยผ่านมาและมีประสบการณ์ร่วมแตกต่างกันออกไป หนังเรื่องนี้มันค่อนข้างเฉพาะตัวก็จริง แต่ในแง่อื่นๆ คนดูสามารถรู้สึกเข้าถึงได้ในประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพราะองค์ประกอบที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้คนดูรับรู้และรู้สึกได้
ทางด้านของ ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ พอล กล่าวว่า “สำหรับผมมันทำให้เรารู้สึกคิดตามและเกิดคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า? มันทำให้เราย้อนถามตัวเราเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราต้องมาเจอกับสถานการณ์เหล่านี้เราจะทำมันอย่างไร เราจะผ่านมันมาแบบไหน เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร และมันทำให้คนดูทุกคนได้ดูและคิดได้ตาม
จอห์น คาร์นีย์ ผู้กำกับ กล่าวถึงชีวิตครอบครัวที่เกิดขึ้นตอนนั้นในยุค 1980 ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของแต่ละครอบครัวที่เผชิญปัญหาในยุคนั้น “มันมีหลายๆปัญหามากที่เกิดขึ้นในชีวิตสมรส และครอบครัว และมันตั้งคำถามให้กับเด็กๆ ว่าอยากจะให้พ่อแม่อยู่ด้วยกัน หรืออยากให้พวกเขาแยกกันอยู่ ซึ่งการหย่าร้างกันในขณะนั้นก็เป็นอะไรที่ยังทำไม่ได้ ทางโบสถ์ก็ไม่อนุญาต ในฐานะตัวละครหลักอย่าง คอเนอร์ ที่รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองมีปัญหา หนทางที่เขาเลือกแก้ปัญหา ก็มาจากอิทธิพลของทีวีโชว์ ที่เขาเคยดูอยู่และพยายามทำตัวเองให้มีความสุขให้ได้ ซึ่งในไอร์แลนด์เองปัญหาเหล่านี้มีอยู่ทั่ว และนั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเล่าออกมา”
บันทึกภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์