![](http://www.starupdate.com/wp-content/uploads/2017/02/THE-SALESMAN-4.jpg)
2 สามีภรรยา อีหมัด และ ราน่า มีเหตุให้ต้องย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ใหม่ หลังจากห้องเก่าของทั้งคู่เสียหายจากภัยธรรมชาติ ทว่าการย้ายบ้านครั้งนี้กลับกลายเป็นชนวนเหตุให้ชีวิตของทั้งคู่ต้องพลิกผัน
พูดคุยกับผู้กำกับ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี
หลังจากกำกับหนังเรื่อง The Past ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำไมคุณถึงกลับมาเตหะรานเพื่อสร้าง The Salesman?
ตอนผมทำ The Past ที่ฝรั่งเศสเสร็จ ผมก็เริ่มทำหนังอีกเรื่องซึ่งดำเนินเหตุการณ์ในประเทศสเปนต่อเลย เราเลือกสถานที่ถ่ายทำ เขียนบทโดยปราศจากบทสนทนา พูดคุยกับโปรดิวเซอร์และนักแสดงหลักเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่กว่าจะรวบรวมทีมงานทั้งหมดได้มันต้องใช้เวลานานเป็นปี ผมเลยมีเวลากลับไปทำหนังที่อิหร่านครับ ผมไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ด้วยที่ต้องทำหนัง 2 เรื่องพร้อมๆ กันตอนอยู่เมืองนอก แต่ตอนนี้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีแล้วครับ ผมกำลังจะกลับไปทำหนังเรื่องนั้นที่สเปนแล้ว
โปรเจ็คท์นี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ผมมักจะจดบันทึกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เมื่อได้โอกาสกลับมาทำหนังที่อิหร่าน ผมจึงกลับไปค้นสิ่งที่ผมบันทึกไว้มาตลอดหลายปีและนำมาใช้ นอกจากนั้นผมต้องการสร้างหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับละครเวทีด้วย ผมเคยทำละครเวทีตอนยังหนุ่มและมันมีความหมายต่อผมมากๆ เรื่องราวในหนังเรื่องนี้เหมาะสมกับความเป็นละครเวทีอย่างยิ่ง ผมจึงค่อยๆ พัฒนาแต่ละฉากและตัวละครขึ้นมาครับ
คุณนิยามเรื่องราวใน The Salesman ไว้ว่าอย่างไร? มันว่าด้วยการแก้แค้น หรือการเสียศักดิ์ศรีกันแน่?
ผมมีปัญหาเหมือนกันหากต้องนิยามเรื่องราวใน The Salesman หรือแม้กระทั่งการบอกว่าหนังเรื่องนี้มีความหมายต่อผมมากเพียงใด ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับมุมมอง ระบบคิดและทัศนคติส่วนตัวของคนดูครับ ถ้าคุณมองหนังเรื่องนี้ด้านปัญหาสังคม คุณจะพบองค์ประกอบแบบนั้นอยู่ในหนังเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันคนอื่นก็อาจจะมองประเด็นเรื่องคุณธรรมหรือมองมุมอื่นไปเลยก็ได้ ผมบอกได้เพียงแค่ว่าหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความซับซ้อนของคำว่า ‘ครอบครัว’
ในฉากแรกๆ ของหนัง อีหมัด และ ราน่า ดูเหมือนเป็นคู่รักธรรมดาๆ คู่หนึ่ง พวกเขาเป็นภาพแทนของชนชั้นกลางชาวอิหร่านรึเปล่า?
ทั้งคู่คือสามีภรรยาชนชั้นกลางชาวอิหร่านครับ ผมไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาเปรียบเหมือนภาพแทนของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ไหม คาแรคเตอร์ของทั้ง 2 ตัวละครถูกสร้างขึ้นมาอย่างเรียบง่ายเพื่อคนดูจะได้ไม่รู้สึกว่าพวกเขาแตกต่างจากคู่รักคู่อื่นๆ พวกเขาคือคู่รักธรรมดาที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีมิติ แต่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติที่ทำให้ตัวตนที่ซุกซ่อนอยู่ปรากฏกายออกมา
ชื่อหนังเรื่องนี้นำชื่อบทละครที่ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ แต่งมาใช้ (Death of a Salesman) ทำไมคุณถึงเลือกใช้ชื่อนี้?
ผมอ่าน Death of a Salesman ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ มันยังติดค้างอยู่ในความทรงจำของผมจนถึงทุกวันนี้เลยครับ อาจเพราะมันเป็นบทละครที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มันเปิดโอกาสให้คนอ่านได้มองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการวิพากษ์สังคมในยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทอเมริกา ส่งผลให้ชนชั้นทางสังคมที่เคยมั่นคงเกิดความสั่นคลอน มีกลุ่มคนที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ในแง่นั้น บทละครเรื่องนี้ยังสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศของผม หลายสิ่งหลายอย่างแปรผันไปเพียงแค่ไม่กี่อึดใจและหากไม่ปรับตัวให้เข้ากับมันก็ไม่สามารถอยู่ได้ บทละครนี้สามารถวิพากษ์สังคมได้อย่างแสบสันต์ในตอนนั้น ยังสามารถนำมาปรับใช้กับโลกในยุคปัจจุบันได้เช่นกัน
อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือความซับซ้อนของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา เซลส์แมนและลินดา บทละครนั้นเร้าอารมณ์มากทีเดียว ทำให้คนดูหวนคิดถึงคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ทันทีที่ผมตัดสินใจว่าจะสร้างตัวละครเอกของเรื่องให้ทำงานสายละครเวที งานของมิลเลอร์จึงปิ๊งขึ้นมาในสายตาของผมทันที ผมสร้างความสัมพันธ์ที่เปรียบได้กับเส้นขนานของคน 2 คน เมื่ออยู่บนบนเวที อีหมัดและราน่า ต้องรับบทเป็นเซลส์แมนและภรรยา ขณะที่ในชีวิตจริงของพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับเซลส์แมนและครอบครัวอย่างไม่รู้ตัว
คุณแสดงภาพเมืองเตหะรานมีความสับสนอลหม่าน ผ่านมุมมองของตัวละครที่มองออกมาจากอพาร์ตเมนต์ของพวกเขา นั่นคือมุมมองส่วนตัวของคุณที่มีต่อเมืองที่คุณอาศัยและทำงานอยู่รึเปล่า?
กรุงเตหะรานทุกวันนี้มีความคล้ายคลึงกับมหานครนิวยอร์คมากๆ ครับ อย่างที่ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ บรรยายไว้ช่วงต้นของบทละคร มันคือเมืองที่รูปลักษณ์เปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด สิ่งเก่าแก่ที่เคยมีถูกทำลาย ธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยตึกรางบ้านช่อง นี่คือบรรยากาศที่เซลส์แมนอาสัยอยู่ ในหนังกับในละครมีความคล้ายคลึงกัน เตหะรานกำลังเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเมืองที่บ้าระห่ำ ไร้ขื่อไร้แปและไร้เหตุผล ในเมื่อหนังเรื่องนี้พูดถึงครอบครัว บ้านจึงกลายเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญมาก หนังเรื่องก่อนๆ ของผมเคยพูดถึงประเด็นแบบนี้ไว้แล้ว และครั้งนี้ก็จะยังคงเป็นเช่นนั้นอีกเช่นกัน
บันทึกภาพ: สหมงคลฟิล์ม