อีกหนึ่งโปสเตอร์ฉบับภาษาไทยจากภาพยนตร์ Kong: Skull Island – คอง มหาภัยแห่งเกาะกะโหลก ส่วนที่มาเติมเต็มการออกแบบเสียงของหนังก็คือดนตรีประกอบจากวงซิมโฟนีซึ่งแต่งโดยเฮนรี แจ็คแมน “ข้อดีของหนังสัตว์ประหลาดก็คือมันเปิดโอกาสให้เราได้ใช้วงซิมโฟนีออร์เคสตราอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด” เขากล่าว “จอร์แดนอยากยกย่องความหนักแน่นจริงจังและประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับวงออร์เคสตราแบบเต็มวง แต่เราก็ได้สำรวจองค์ประกอบที่ไม่ตามแบบแผนด้วย งานแบบนี้นับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักแต่งเพลงครับ”
แจ็คแมนเน้นความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างคองกับตัวละครบางตัวด้วยการสร้างช่วงเวลาพิเศษในดนตรีประกอบซึ่งเขากล่าวว่า “มีความเป็นมนุษย์และความละเอียดอ่อน” นอกจากนี้เขายังอ้างถึงฉากในเรือแวนเดอเรอร์ว่าเป็นฉากที่เขาชอบเป็นพิเศษ “จอห์น ซี ไรลีย์ในบทมาร์โลว์เป็นไกด์พาเราเข้าไปในวิหาร ผมก็เลยแต่งเพลงที่ผมเรียกว่า ‘Americana element’ เป็นเพลงธีมรักชาติที่สอดคล้องกับมาร์โลว์และภูมิหลังของเขาซึ่งเคยเป็นนักบินเครื่องบินรบในสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อน”
เพื่อให้เหมาะกับฉากย้อนยุค แจ็คแมนจึงสอดแทรกโทนเสียงคลาสสิกของกีตาร์ไซคีเดลิคยุค 70 ลงไปในดนตรีประกอบด้วย วิธีนี้ช่วยให้ดนตรีประกอบเชื่อมโยงไปยังเพลงดังที่น่าจดจำในยุคนั้นซึ่งถูกหยอดเข้ามาในช่วงต่างๆ ของหนัง “ผมต้องการใช้เพลงจากยุคสงครามเวียดนามและเพลงฮิตมากมายจากยุค 70” วอกท์-โรเบิร์ตส์กล่าว “วิธีนี้ช่วยให้เราได้ขั้วตรงข้ามที่น่าสนใจ ช่วยกำหนดโทน และสร้างช่วงเวลาสนุกๆ ให้เกิดขึ้น
“เราวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ในเรือที่ตัวละครใช้เดินทางไปตามแม่น้ำ ช่วยให้ดนตรีดังออกมาจากแหล่งเสียงจริงๆ” ผู้กำกับกล่าวต่อ “ปฏิกริยาที่ตัวละครมีต่อดนตรีช่วยให้เกิดช่วงเวลาที่ไม่คาดฝัน”
เพลงที่ได้มารวมอยู่ในซาวด์แทร็ก ได้แก่ “Time Has Come Today” ของ The Chambers Brothers หนึ่งในเพลงดังของยุคไซคีเดลิค, “White Rabbit” เพลงดังติดอันดับท็อปเท็นของ Jefferson Airplane, “Ziggy Stardust” ของเดวิด โบวี, “Long Cool Woman (In A Black Dress)” ของ The Hollies, “Paranoid” ของ Black Sabbath, “Bad Moon Rising” และ “Run Through the Jungle” ของ Creedence Clearwater Revival, “Down on the Street” ของ The Stooges, เพลงร็อคไซคีเดลิคจากเวียดนาม “Mặt Trời Đen” และ “Brother” จากนักร้องดังชาวบราซิล จอร์จ เบน จอร์
ดนตรีซึ่งทำหน้าที่ช่วยขับเน้นอารมณ์และขับเคลื่อนฉากแอ็คชั่น เป็นองค์ประกอบสร้างสรรค์ที่นำมาใส่ลงในช่วงท้ายๆ หลังการถ่ายทำ นับเป็นบทสรุปของโครงการครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้กองถ่ายต้องเดินทางไปยังสามทวีป ตลอดกระบวนการดังกล่าว ผู้มีส่วนร่วมทุกคนตั้งใจที่จะเคารพต่อประวัติศาสตร์ของคอง ขณะที่กำลังสร้างสัตว์ในตำนานเวอร์ชั่นใหม่นี้ขึ้นมา
“การเดินทางเพื่อสร้าง “Kong: Skull Island” เป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่และเป็นประสบการณ์ที่พิเศษสุดสำหรับเราทุกคน” จอร์แดน วอกท์-โรเบิร์ตส์ สรุป “เราต้องการปฏิบัติต่อคองโดยให้เกียรติอดีตที่ผ่านมาและแผ้วถางหนทางใหม่ไปพร้อมกัน”
Kong: Skull Island – คอง มหาภัยแห่งเกาะกะโหลก เข้าฉาย 9 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
บันทึกภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์