จังหวัดชลบุรี นำโดย นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จัดงานแถลงข่าวเปิดประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านชากแง้ว และชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด พร้อมกับพัฒนาศักยภาพการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบ้านชากแง้วและบ้านตะเคียนเตี้ยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนำร่องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรี โดยมี ดร.สุดใจ ผ่องแผ้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ชลบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ มิ้น มิณฑิตา วัฒนกุล เข้าร่วมงาน ณ ลานกิจกรรม หน้าเซ็นทรัลเวิลด์
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ให้เป็นที่รู้จัก สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการที่อยู่ในชุมชนและบริเวณ โดยรอบ ตลอดจนอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนให้คงอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ชุมชนบ้านชากแง้ว หรือ ชุมชนตลาดชากแง้ว หรือ ชุมชนชากแง้ว เป็นชุมชนที่มีมายาวนานกว่าร้อยปี ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา อีกทั้งชุมชนยังอยู่ห่างจากทะเลไม่มากนัก ทำให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดิน น้ำ และป่าไม้ โดยที่ชุมชนเริ่มก่อตั้งมาจากการที่มีชาวจีนโล้สำเภาหนีความแห้งแล้งมายังประเทศไทย ทำให้ชาวจีนหลายครอบครัวตั้งรกรากสร้างครอบครัวที่บ้านชากแง้ว หลังจากที่ทำงานเก็บเงินซื้อที่ดินทำกิน ถางที่เพิ่มเพื่อทำการเกษตร และเปิดร้านค้าขายมากมาย จนเกิดการจ้างแรงงานคนไทย เป็นผลให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยโบราณและวัฒนธรรมจีนเข้าด้วยกัน ในปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 300 หลังคาเรือน ถึงแม้อาคารบ้านเรือนจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงพบเห็นความรุ่งเรืองในอดีตของชากแง้วได้จากสภาพอาคารบ้านเรือน ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันทรงคุณค่า และอัตลักษณ์เปี่ยมเสน่ห์ของชุมชนจีนโบราณ สามารถเยี่ยมชมได้ในทุกๆ วันเสาร์ตั้งแต่เวลา 15.00 น. – 21.00 น.
หากใครได้ไปเยือนชุมชนบ้านชากแง้ว พลาดไม่ได้ที่จะเดินเที่ยวชมภายในหมู่บ้าน เริ่มที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ชาวชุมชนเคารพนับถือมาช้านาน ถือเป็นศาลเจ้าของชาวจีนทั่วโลก เพื่อบูชาเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ เจ้าแม่ทับทิมที่ชุมชนชากแง้วนี้มีมายาวนานกว่า 100 ปี ความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าแม่นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าหากผู้ที่มีความประพฤติปฏิบัติดีนั้น เมื่อมากราบไหว้ขอพรจากเจ้าแม่จะสมหวังทุกครั้งไป
โรงงิ้วโบราณ ตามวัฒนธรรมการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีน เมื่อมีการรวมตัวของคนเชื้อสายจีน ก็นิยมสร้างศาลเจ้าไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ต่อมาเมื่อมีชาวจีนมากขึ้น มีฐานะดีขึ้นก็จะตั้งเป็นสมาคม โดยที่มีจุดศูนย์รวมการทำกิจกรรมของชุมชนอยู่ที่โรงเจหรือโรงทาน สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกโรงเจว่าโรงงิ้ว มาจากภายหลังที่สร้างโรงเจเสร็จ เป็นช่วงเดียวกับงานประเพณีประจำปีเจ้าแม่ทับทิม จึงได้มีการจัดให้แสดงงิ้วให้เจ้าแม่ทับทิมดู ทำให้ชาวบ้านเรียกที่แห่งนี้ว่าโรงงิ้ว
โรงหนังโบราณ หรือ ชากแง้วราม่า เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีชื่อเสียงของคนในชุมชนรวมไปถึงภายในจังหวัดชลบุรี โรงหนังชากแง้วก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 เพื่อเป็นสถานบันเทิงให้คนในชุมชนพักผ่อน หย่อนใจ โรงหนังโบราณอยู่บริเวณหน้าตลาดที่อายุเก่าแก่กว่า50ปี โดยโรงหนังทำจากไม้ทั้งหลัง เหมาะแก่การเก็บภาพอย่างยิ่ง เพราะมีเหลือให้เห็นน้อยเต็มทีในปัจจุบัน
ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย ในอดีตชุมชนตะเคียนเตี้ยมีอาชีพทำนา มีน้ำท่าสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่เมื่อเวลาผันผ่าน น้ำที่ใช้ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกมะพร้าว เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จนปัจจุบันมีการทำสวนเกษตรหลากหลายมากขึ้น แต่สวนมะพร้าวยังถือเป็นอาชีพหลักของชุมชน เพื่อให้ชุมชน ตะเคียนเตี้ยมีความแข็งแกร่ง และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น
บ้านร้อยเสา แหล่งรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ ตำรายารักษาโรค ตำราโหราศาสตร์ ปีนักษัตรไทย การดูฤกษ์ยาม ครกบดยา ภาชนะทองเหลืองสลักลาย และพระเครื่อง เป็นต้น ซึ่งของทุกชิ้นมีเรื่องราวมากด้วยคุณค่า ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมเยีอนยังมีโอกาสได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย
ทั้งนี้ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย ยังเป็นชุมชน วิถีไทย ใช้ปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงของในหลวง ในการดำรงชีวิต มีผลิตภัณฑ์แนะนำ อาทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น , ขนมทองพับ , ท๊อฟฟี่ otop 4 ดาว และ อาหารขึ้นชื่อ “ไก่แกงกะลา” ซึ่งเป็นอาหารที่หากินได้ยาก ใครมาเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ ห้ามพลาดในการชิมเมนูนี้เด็ดขาด
ชุมชนบ้านชากแง้วและบ้านตะเคียนเตี้ย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลตะเคียนเตี้ย เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ผ่านการดำรงอยู่ สรรสร้างขึ้นมาเป็นแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ ถือเป็นมรดกทางความคิดของบรรพบุรุษอันล้ำค่าสมควรแก่การสืบสานและอนุรักษ์ หากได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้วจะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
บันทึกภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์