พลิกคาแร็กเตอร์ในบทเด็กหล่อพ่อรวย จากซีรีส์ HORMONES วัยว้าวุ่น และในหนังฉลาดเกมส์โกง มารับบท “บู” เด็กหนุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าที่เยียวยาตัวเองด้วยการเล่นสเก็ตบอร์ด ในซีรีส์ SOS skate ซึม ซ่าส์ ค่ายจีดีเอช เเละนาดาว บางกอก ทำเอาแฟนๆที่ได้ดูผลงานเรื่องนี้ ถึงกับชื่นชมการแสดงของ เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ที่นับวันจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถลบภาพเดิมๆ เเถมยังปลดล็อกเรื่องการเเสดงไปอีกหนึ่งขั้น งานนี้ ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผลักดันเต็มที่ เเละ เจมส์ ก็ทุ่มสุดหัวใจ พยายามฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดจนเกิดอุบัติเหตุจนแขนหัก แถมยังพยายามลดน้ำหนักจนตัวผอมแห้งแรงน้อย เพื่อให้เข้าถึงบทบาทของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างเข้าใจมากที่สุด!!
เจมส์ กล่าวว่า “ในซีรีส์ SOS skate ซึม ซ่าส์ ผมรับบท บู เด็กวัยมัธยมที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งคนเป็นโรคนี้ มีอาการที่หลากหลาย ทั้งนอนไม่หลับ ลุกออกจากเตียงยาก ฯลฯ บางคนก็กินเยอะ บางคนก็กินน้อย ซึ่งคาแร็กเตอร์ของบูที่เห็นได้ชัดคือ เป็นคนที่ไม่อยากอาหาร ออกแนวผอมแห้งแรงน้อย ซึ่งการที่จะเข้ามารับคาแร็กเตอร์นี้ให้สมจริง ผมต้องลดน้ำหนักลงไปเกือบ 10 กิโลกรัม เพื่อให้ดูผอม ดูซูบ เรียกว่ากล้ามที่เคยมีหายไปหมดเลยครับ และเพื่อให้เข้าถึงฟิลลิ่งของตัวละคร ผมต้องทำการบ้านหนักมาก ศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ค้นหาตัวละครบูอยู่นาน วันแรกเล่นไม่ได้ จนวันที่ 2 ถึงหาตัวตนของบูเจอ เวลาเข้ากองถ่ายผมจะจูนคาแรกเตอร์เป็นบูตั้งแต่เช้ายันเลิกกอง คือแทบจะไม่ค่อยได้คุยกับใคร ทีมงานก็ไม่กล้าเข้ามาคุยด้วย เพราะผมจะพยายามจะนั่งนิ่งๆไม่ค่อยเล่น เป็นอันรู้กันว่าเจมส์มี่เจมส์กำลังอินกับบท ส่วนในพาร์ทของสเก็ตบอร์ด ผมต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งเเต่นับหนึ่งใหม่ จากที่เล่นไม่เป็นเลย ก็ต้องค่อยๆฝึกฝน ฝึกเกือบทุกวัน ซ้อมเป็นเดือนๆ กว่าจะได้แต่ละท่า เเต่มันทำให้เราได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง คือนักแสดงทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเป็นพี่โทนี่ แพต แพรว เราต่างมีบาดแผลจากการเล่นสเก็ตกันหมดทุกคน อย่างผมแขนขวาหัก เพราะล้มผิดจังหวะแขนเลยลงไปกระแทกกับพื้น แต่ยิ่งล้มก็ยิ่งเเกร่ง มันทำให้เรารู้ว่าครั้งต่อไป จะล้มอย่างไรให้เจ็บน้อยที่สุด พอได้เล่นทุกวัน รู้ตัวอีกทีก็รู้สึกชอบเเละหลงเสน่ห์กีฬาชนิดนี้ไปแล้ว อาจเป็นเพราะสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เเต่เเข่งขันกับใจตัวเอง ซึ่งมันมาพ้องกับเรื่องโรคซึมเศร้าที่ต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ต้องต่อสู้กับตัวเองทั้งร่างกายเเละจิตใจ รู้สึกว่าการนำทั้ง 2 อย่างมาอยู่ในเรื่องเดียวกันมันเป็นความท้าทายอย่างมาก ถ้าได้ดูเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เเละจะได้รู้จักโลกของสเก็ตบอร์ดมากขึ้นเช่นกัน เรื่องนี้ผมว่าวัยรุ่นจะดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เพราะมีพาร์ทเรื่องครอบครัว ที่อยากให้พ่อเเม่ลูกได้ดูด้วยกัน จะได้คอยสังเกต เเละรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันเเละกัน ก็ขอฝากติดตาม “SOS skate ซึม ซ่าส์” ด้วยนะครับ เปิดทีวีมาเจอกันได้ทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. ทางช่อง GMM25 รับรองสนุกและประทับใจเเน่นอนครับ”
บันทึกภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ค่าย จีดีเอช