ยูนิเซฟจับมือ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ลงพื้นที่โมซัมบิก ให้กำลังใจเด็กที่ประสบภัยจากพายุไซโคลน ในโครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน >>

แชร์ข่าวนี้

ยูนิเซฟ ประเทศไทย จับมือ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ลงพื้นที่เยี่ยมเด็กๆ และครอบครัวผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนในประเทศโมซัมบิกเมื่อวันที่ 24-29 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้คนไทยได้รับรู้ พร้อมระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยโครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พายุไซโคลนอิดาอีที่พัดถล่มหลายประเทศในแอฟริกา ได้แก่ ประเทศโมซัมบิก ประเทศมาลาวี และประเทศซิมบับเว นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดในแอฟริกาตอนใต้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้เหตุการณ์จะผ่านมาราว 3-4 เดือนแล้ว  แต่ภัยพิบัตินี้ยังคงส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 3 ล้านคน และเด็ก ๆ อีกกว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งกำลังเสี่ยงต่อโรคระบาด และภาวะขาดสารอาหารรุนแรง เนื่องจากการต้องอพยพออกจากบ้าน ขาดแคลนน้ำสะอาดและขาดสุขอนามัยที่ดี

โครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตร้ายแรง และระดมทุนจากประชาชนไทยเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ และครอบครัวกว่า 3 ล้านคนในแอฟริกาที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก โดย ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี รับหน้าที่เป็นตัวแทนภารกิจพิเศษของโครงการ

หลังจากได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่โมซัมบิกแล้ว ติ๊กกล่าวว่า “แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่เด็กและครอบครัวผู้ประสบภัยยังคงใช้ชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบาก ผมรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของเด็ก ๆ ที่นี่ พวกเขาควรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้  ผมเชื่อว่า ในฐานะที่พวกเราทุกคนคือประชากรบนโลกใบเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน การสนับสนุนจากคนไทยในภาวะวิกฤตนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติอีกครั้งครับ”

ติ๊ก ยูนิเซฟ ในโครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน

ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี เดินทางไปโมซัมบิกในฐานะตัวแทนภารกิจพิเศษ ในโครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน ของยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อเยี่ยมเยียนเด็ก ๆ ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลน และนำเรื่องราวมาถ่ายทอดสู่คนไทย

เด็กและครอบครัวที่ประสบภัยจำนวนมากยังไม่ได้กลับบ้าน

พายุไซโคลนได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่เกษตรกรรม ทำลายบ้านเรือนไปหลายพันหลัง และทำให้ผู้คนต้องพลักพรากจากบ้านนับแสนชีวิต

การขาดแคลนน้ำสะอาดยังเป็นปัญหาสำคัญ

ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด และแหล่งน้ำปนเปื้อน ทำให้เด็กกว่า 1.6 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง อาทิ อหิวาตกโรค มาลาเรีย และท้องร่วง ยูนิเซฟได้จัดส่งน้ำสะอาดให้แก่เด็กและครอบครัวผู้ประสบภัย ในภาพนี้         ติ๊กกำลังช่วยเด็ก ๆ เติมน้ำสะอาดลงในขวดเพื่อให้เด็ก ๆ นำกลับบ้าน นอกจากนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินการวางท่อน้ำ เพื่อให้เด็กและครอบครัวมีน้ำสะอาดไว้ใช้ในระยะยาวด้วย

การรักษาพยาบาลจำเป็นต้องทำในเต็นท์ฉุกเฉิน

ติ๊กเดินทางไปเยี่ยมเด็ก ๆ และผู้ประสบภัยในเขตบูซี ประเทศโมซัมบิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนหน้านี้มีน้ำท่วมสูงกว่า 8 เมตร โรงพยาบาลประจำเขตบูซีได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้การได้ ทำให้ต้องย้ายการรักษาออกมาอยู่ในเต๊นท์ฉุกเฉินที่ทางยูนิเซฟจัดให้แทน ในภาพ แพทย์กำลังให้การรักษาหนูน้อยวัย 3 เดือนที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ

การรับมือกับปัญหาการศึกษาขาดตอน

โรงเรียนในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หรือไม่ก็กลายเป็นศูนย์อพยพชั่วคราว ทำให้เด็ก ๆ กว่า305,000 คนไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ ยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตร สร้างศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราวให้แก่เด็ก ๆ เพื่อไม่ให้การเรียนต้องหยุดชะงัก ในภาพ ติ๊กกำลังเรียนวิชาภาษาอังกฤษกับเด็ก ๆ ในห้องเรียนชั่วคราวของยูนิเซฟ ที่ 12 OCTOBER PRIMARY SCHOOL ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

การจัดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อฟื้นฟูจิตใจของเด็ก

ยูนิเซฟได้จัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พร้อมจัดเตรียมกิจกรรมสันทนาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ๆ  ในภาพนี้ ติ๊กกำลังทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกันกับเด็ก ๆ ที่ศูนย์พักพิงมูตัว (Mutua) ในเมืองดอนโดลา เพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

พลังของความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

ทุก ๆ วัน ยูนิเซฟ รัฐบาล พันธมิตรและอาสาสมัคร จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ โภชนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก ติ๊กได้ไปเยี่ยมหน่วยสุขอนามัยที่ศูนย์พักพิงที่เมืองมูตัว (Mutua) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ขาดสารอาหาร และป่วยเป็นโรคมาลาเรีย

จะไม่มีคำว่าสิ้นหวังหากเราร่วมมือกัน

ยูนิเซฟและพันธมิตรกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ ๆ เข้าถึงยากที่สุด หลังจากได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่โมซัมบิกแล้ว ติ๊กกล่าวว่า  “แม้เหตุการณ์จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่เด็กและครอบครัวผู้ประสบภัยยังคงใช้ชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบาก ผมรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของเด็ก ๆ ที่นี่ พวกเขาควรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้  ผมเชื่อว่า ในฐานะที่พวกเราทุกคนคือประชากรบนโลกใบเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน การสนับสนุนจากคนไทยในภาวะวิกฤตนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติอีกครั้งครับ”

ช่องทางบริจาค

  • SMS: พิมพ์ 100 และส่งมาที่เบอร์ 4712225 (100 บาทต่อ 1 ข้อความ)
  • ออนไลน์: http://www.unicef.or.th/cyclone
  • โอนผ่านบัญชีธนาคาร: ธนาคารกรุงเทพ หมายเลขบัญชี 201-3-01324-4

กรุณาส่งข้อมูลติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์) พร้อมใบสลิปมาที่ยูนิเซฟ โดยระบุ “ไซโคลน” มาที่ unicefthailand@unicef.org หรือแฟ็กซ์ 02 356 9229

ที่มา:  ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บันทึกภาพ:  ฝ่ายประชาสัมพันธ์
นำเสนอโดย www.starupdate.com หากนำข่าวไปใช้กรุณาอ้างอิงถึง www.starupdate.com ด้วย
แชร์ข่าวนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง