ถอดรหัสกระทำความหว่อง สัมภาษณ์ หว่องกาไว ครบรอบ 20 ปี IN THE MOOD FOR LOVE >>

แชร์ข่าวนี้

คุณคิดพลอตเรื่องนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ตอนแรกเราเริ่มถ่ายหนังซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย เดิมทีเราเรียกหนังที่เราถ่ายกันว่า “เรื่องของอาหาร” (A story about food) แล้วเรื่องสั้นๆ หนึ่งในนั้น คือเรื่องของเพื่อนบ้านสองคน ที่ออกมาเจอกันเวลาพวกเขามาซื้อบะหมี่ ผ่านไปสักพักผมก็รู้สึกว่า เหตุผลหลักที่ผมทำโปรเจคต์นี้ เพราะผมชอบเรื่องพาร์ทนี้ ผมเลยตัดสินใจทิ้งพาร์ทอื่นๆ แล้วขยายพาร์ทนี้ให้เป็นหนังยาว

มันดูเป็นหนังแบบคิดไปถ่ายไปอยู่เหมือนกัน ถ้าเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ คุณเปลี่ยนแปลงอะไรมากน้อยแค่ไหนตอนอยู่ในห้องตัดต่อ

ตอนแรกผมคิดว่าจะทำหนังง่ายๆ ขึ้นมาสักเรื่อง เพราะมันมีแค่ตัวละครสองตัว ทั้งเรื่องก็มีแค่คนสองคนคุยกัน แต่แล้วผมก็พบว่ามันยากกว่าหนังทุกเรื่องที่ผมทำมาเสียอีก ทั้งๆ ที่ผมเคยทำหนังที่เคยมีตัวละครประมาณ 10 ตัวมาแล้วก็ตาม ด้วยความที่มีกันแค่ 2 คน ผมจึงต้องใส่รายละเอียดยิบย่อยเข้าไปเยอะมาก เราถ่ายตัวละครจากช่วงปี 1962-1972 คือช่วง 10 ปีของความสัมพันธ์ แต่พอไปดูในห้องตัดต่อ ผมตัดสินใจให้หนังจบแค่ปี 1966 แล้วตัดส่วนที่เหลือทิ้งไป

คุณทิ้งส่วนนั้นไปหมดเลยเหรอ

ไม่แน่ในอนาคต ผมอาจจะเอาส่วนนั้นมาทำอีกเวอร์ชั่น

ทำไมคุณถึงเลือกฉากหลังเป็นยุค 60 ของฮ่องกง

ผมมักจะเลือกช่วงเวลานั้นมาทำหนัง เพราะผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับฮ่องกง เพราะนับตั้งแต่ปี 1949 (เหมาเจ๋อตงพาจีนเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม) คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ในฮ่องกงยังคงฝันถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง เหมือนชุมชนชาวจีนในหนัง พวกเขามาจากเซี่ยงไฮ้ พวกเขาพูดภาษาของตนเอง และไม่ข้องแวะกับคนกวางตุ้งซึ่งเป็นคนท้องถิ่นของฮ่องกง พวกเขาดูหนัง ฟังเพลง และมีพิธีกรรมที่ไม่เหมือนคนฮ่องกง ผมคิดว่าช่วงเวลานั้นมันพิเศษ และผมก็เติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนั้น ผมอยากจึงอยากทำหนังด้วยบรรยากาศและอารมณ์แบบนั้น

ทำไมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า In the Mood for Love

ผมตั้งใจมาตลอดว่าจะตั้งชื่อหนังว่า Secrets (ความลับ) หรือชื่ออะไรก็ได้ที่มีคำว่า ความลับ อยู่ในนั้น แต่คนที่เมืองคานส์บอกว่า อย่าเลย มีหนังเรื่องความลับเยอะแล้ว เราเลยต้องหาชื่อใหม่ จนเราได้ฟังเพลงของ ไบรอัน เฟอร์รี เพลง In the Mood for Love เราเลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้ ซึ่งมันก็เข้ากับเรื่องดี เพราะความรักทำให้คนสองคนในเรื่องแอบมาเจอกัน

บรรยากาศในเรื่องมีความเป็นละตินสูงมาก คุณยังติดกลิ่นนี้มาจากตอนไปถ่าย Happy Together ที่อเมริกาใต้หรือเปล่า

ผมชอบวรรณกรรมละตินอเมริกา ผมคิดว่าคนละติน คนอิตาเลียน มีลักษณะคล้ายคนจีนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงเวลาแสดงอารมณ์รักใคร หึงหวง และการเชิดชูครอบครัว เพลงละตินในหนัง ผมใส่เข้ามาเพราะว่า มันเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในฮ่องกงตอนนั้นจริงๆ เนื่องจากวงดนตรีที่แสดงในฮ่องกงสมัยนั้น เป็นนักดนตรีจากฟิลิปปินส์ ไนท์คลับแทบทุกแห่งมีแต่นักร้องนักดนตรีจากฟิลิปปินส์ เพลงละตินจึงตัดไปขาดกับสังคมฮ่องกง นอกจากนี้ผมยังใส่เพลงของแนท คิง โคล เข้ามาด้วย เพราะเขาเป็นนักร้องคนโปรดของแม่ผม

ใครๆ ก็รู้จักคุณในฐานะผู้กำกับที่ทำหนังด้วยสไตล์ปล่อยทุกอย่างให้เป็นอิสระ (ทั้งมุมกล้องและการตัดต่อ) อย่างใน Chungking Express หรือ Fallen Angels แต่กับ In the Mood for Love เป็นไปในทางตรงข้าม คุณดูเคร่งขรึมขึ้นมาก คุณตั้งใจจะลองทำอะไรใหม่ๆ หรือเปล่า

ผมและทีมงานชินกับการเล่าเรื่องแบบเดิมมาก จนมันกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเราไปแล้ว และเราก็คิดว่ามันคงน่าเบื่อถ้าต้องทำแบบเดิม เราเลยพยายามถ่ายหนังด้วยวิธีใหม่ อีกอย่างคือ คริส ดอยล์ ไม่ว่างถ่ายหนังให้กับผม นานถึง 15 เดือน เราจึงต้องมีผู้กำกับภาพร่วมอีกคน ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็จะขี้เกียจ และปล่อยให้คริสจัดการทุกอย่างไป พอผมต้องมาใช้ตากล้องคนใหม่ (หลี่ผิงปิง – ผู้กำกับภาพคู่ใจของโหวเสี้ยวเสียน) ผมเลยต้องขยันมากขึ้น ต้องคิดว่าแต่ละช็อตควรถ่ายอย่างไรเพื่อสนับสนุนเนื้อหาหรืออารมณ์ของหนัง หลี่ผิงปิงเป็นตากล้องชั้นยอด เขาทำให้ผมมองเห็นวิธีใหม่ๆ ในการถ่ายหนัง

พวกลายพิมพ์ดอกไม้ในหนังสวยงามมาก เราอยากให้คุณพูดถึงส่วนนี้หน่อย

ผมโชคดีที่ได้ผู้กำกับศิลป์ที่เก่งอย่าง วิลเลียม ชาง เขาทำงานกับผมมาตั้งแต่หนังเรื่องแรก เราเติบโตมาด้วยภูมิหลังที่คล้ายกัน เราเลยรู้ใจกันทุกอย่าง เราแทบจะไม่ต้องปรึกษาอะไรกันเลย เพราะทุกอย่างมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เขาไม่ได้สร้างงานเพื่อรับใช้ผม เขาทำงานเพื่อรังสรรค์ความคิดของตนเองออกมา และผมก็แค่มีหน้าที่ถ่ายมันเก็บไว้ นอกจากนี้เขายังเป็นคนตัดต่อให้ผมด้วย บางครั้งผมก็แทบไม่ต้องบอกอะไรเขาเลย เขารู้ดีว่าอะไรควรตัด อะไรควรเอาไว้

หนังของคุณชอบมีอะไรวางอยู่หน้ากล้องเสมอ คล้ายกับทำให้พื้นที่ในแต่ละช็อตอึดอัดคับแคบ

ผมชอบวางอะไรไว้เป็นโฟร์กราวด์ตลอดเวลา เพราะผมอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังแอบมองตัวละครอยู่ อย่างในหนังเรื่องนี้ เรากำลังแอบมองคนสองคนพลอดรักกัน

การออกแบบเครื่องแต่งกายก็โดดเด่นมาก จางมั่นอวี้เปลี่ยนชุดใหม่ตลอดเวลาเลยทีเดียว

เราเตรียมชุดให้แม็กกี้ (จางมั่นอวี้) ราว 20-25 ชุด เพื่อถ่ายหนังทั้งเรื่อง แต่เนื่องจากเราตัดให้แต่ละฉากกลายเป็นฉากสั้นๆ คนดูจึงรู้สึกเหมือนเธอเปลี่ยนชุดใหม่ตลอดเวลา ความตั้งใจเดิมของผมคือ การถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยวิธีการซ้ำๆ เปิดเพลงเดิมๆ โลเกชั่นเดิมๆ ตรอกแคบๆ หรือโถงๆ เดิม เพราะผมอยากให้คนดูรู้สึกว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย นอกจากความรู้สึกระหว่างพวกเขาทั้งคู่

คุณเคยพูดถึงแรงบันดาลใจและอิทธิพลที่คุณได้รับจาก อันโตนิโอนี, โกดาร์ และทรุฟโฟต์ งานของคนทำหนังเหล่านี้ช่วยสร้างรูปแบบการเล่าเรื่องให้คุณอย่างไร

ในฮ่องกงยุค 60 การไปดูหนังถือเป็นเรื่องสำคัญ เรามีโรงหนังที่ฉายหนังฮอลลีวูด หนังฮ่องกง และหนังจากยุโรป สมัยนั้นยังไม่มีการแปะป้ายว่านี่คือหนังอาร์ต แม้กระทั่งหนังของเฟลลีนี ก็ยังถือว่าเป็นหนังตลาด ตอนเด็กผมไปโรงหนังกับแม่บ่อยมาก ผมกับแม่แยกไม่ออกหรอกว่าอันไหนหนังอาร์ต อันไหนหนังตลาด เราแค่ชอบดูสิ่งที่อยู่บนจอ เราไปดูหนังเพราะชอบดูหนัง ในส่วนของอิทธิพลที่ผมได้รับ ความชื่นชมที่ได้ชมหนังพวกนั้น มันยังอยู่ในความทรงจำผมเสมอมา

ตอนนี้คุณกลายเป็นไอดอลให้กับคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง

อดทนไว้ อดทนให้มากๆ คอยจนกว่าจังหวะเหมาะๆ จะมาถึง

ปีนี้ครบรอบ 20 ปี  “In the Mood for Love”  เราจะได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ใน  เวอร์ชัน 4K ที่ได้รับการบูรณะในแบบดิจิทัล ที่จะเข้าฉายในไทย 29 ตุลาคมนี้ ที่  HOUSE SAMYAN – MAJOR CINEPLEX – SF CINEMA

ที่มา:  ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บันทึกภาพ:  ฝ่ายประชาสัมพันธ์
นำเสนอโดย www.starupdate.com หากนำข่าวไปใช้กรุณาอ้างอิงถึง www.starupdate.com ด้วย
แชร์ข่าวนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง